เปิดผลสำรวจ “วัยรุ่น” เครียดหนัก สุขภาพจิตแย่กว่าวัยทำงานถึง 4 เท่า

10 เม.ย. 2565 | 12:59 น.

กรมสุขภาพจิต สะท้อนสถานการณ์วัยรุ่นมีแนวโน้มความเครียดสูงขึ้นมาก โดยสูงกว่าในกลุ่มวัยทำงานถึง 4 เท่า ไปดูสาเหตุกันว่าเกิดขึ้นจากอะไร พร้อมมีข้อแนะนำครอบครัวและสังคม สามารถช่วยยับยั้งปัญหาได้ด้วยความใส่ใจ

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากผลสำรวจของ Mental Health Check In พบว่า วัยรุ่นมีแนวโน้มความเครียดสูงขึ้นมาก โดยระดับความเครียดในรอบเดือนมีนาคม ที่ผ่านมายังสูงกว่าในกลุ่มวัยทำงานถึง 4 เท่า

 

สำหรับสาเหตุสำคัญ คือการเกิดความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่น มักมีที่มาจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบคิดเอง ทำเอง พึ่งตนเอง ไม่ชอบที่จะถูกบังคับ 

 

รวมทั้งเป็นช่วงที่อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงง่าย ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ก่อความรุนแรง เพราะนอกจากเป็นขัดใจในเรื่องของ ความรัก ยังมีเรื่องการเรียน การใช้จ่าย รวมไปถึงการใช้เวลากับสิ่งที่เด็กสนใจ จนแต่ถูกตำหนิเพราะเหมือนหมกมุ่นในสายตาผู้ใหญ่จนนำมาสู่การทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน และนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด 

พญ.วิมลรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มักจะถูกเพิกเฉยเพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว จึงขอให้สังคมอย่าปล่อยปละให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องเล็กน้อยอีกต่อไป เพราะในปัจจุบันนั้น มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่ให้การคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหา 

 

โดยเจตจำนงที่สำคัญก็เพื่อให้สังคมสามารถช่วยเหลือกัน ซึ่งเมื่อพบเห็นความรุนแรงในครอบครัว สามารถแจ้งตำรวจหรือในชนบทเองสามารถแจ้งได้ ทั้งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน เพื่อทำหารช่วยเหลือได้ทันที วงจรการทำร้ายกันในครอบครัวก็จะสิ้นสุดลง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคนในชุมชนอย่านิ่งเฉยและอย่ายอมให้มีการทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา 

 

1.การสร้างความเข้าใจกันในครอบครัว การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เป็นสิ่งที่สำคัญในการป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เริ่มจากการรับฟังกันอย่างตั้งใจ เพื่อให้เข้าใจความคิด ความต้องการของกันและกัน เป็นการแสดงถึงความเข้าใจ ให้เกียรติ ยอมรับซึ่งกันและกัน 

 

2.เพิ่มการสื่อสารเชิงบวกเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยกัน ไม่ใช่เพียงตำหนิต่อว่ากันแล้วจบไป แต่ควรพูดคุยเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน โดยการบอกความรู้สึก ความต้องการ ความเป็นห่วงของตนเองอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้รับฟังเข้าใจความรู้สึกที่หวังดีของเรา ไม่ใช่เพียงรับรู้ถึงแค่ความโกรธความไม่พอใจถึงพฤติกรรมของอีกฝ่าย 

 

3.สมาชิกในครอบครัวต้องสังเกตความขัดแย้งที่เด็กจัดการด้วยความสร้างสรรค์ไม่ได้เพื่อหาทางออกในการช่วยเหลือที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง 

 

4.ขอความร่วมมือให้สื่อหรือประชาชนไม่นำเสนอการสัมภาษณ์เด็กที่เป็นจำเลยของคดีหรือสังคมผ่านช่องทางต่างๆ เนื่องจากเป็นคดีที่สร้างความอ่อนไหวอีกทั้งการเปิดเผยข้อมูลย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบทั้งต่อจิตใจของเยาวชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทำให้ถูกตีตราและกีดกันต่อสังคมอีกด้วย