เมาแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ 2565 เจอโทษหนักแค่ไหน

10 เม.ย. 2565 | 10:38 น.

โฆษกศาลยุติธรรม แจ้งเตือน “เมาแล้วขับ” ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 หากพบกระทำผิดกฎหมายจะต้องถูกส่งตัวฟ้องศาล พิพากษาลงโทษตามพยานหลักฐาน หนัก-เบา เช็คข้อมูลรายละเอียดกรณีอะไรเจอโทษหนักแค่ไหน จ่ายค่าปรับเท่าไหร่ ติดคุกกี่ปี

นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ แต่ละปีมักจะมีข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุการเมาแล้วขับ โดยเมื่อพบการกระทำผิดกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ก็จะส่งฟ้องเป็นคดีสู่ศาลตามพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งสถิติคดีในอดีตก็มักจะพบว่าการดำเนินคดีข้อหาเมาแล้วขับช่วงเทศกาลมีจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ

 

ขณะที่ปี 2565 ปรากฏตามข่าวว่าประชาชนเริ่มทยอยเดินทางออกต่างจังหวัดแล้วตั้งแต่ช่วงเสาร์-อาทิตย์นี้ 

 

ดังนั้นขอให้ผู้เดินทางซึ่งต้องขับขี่รถนั้นเดินทางด้วยความปลอดภัย และระมัดระวังอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เสพยาเสพติดขณะขับขี่ สวมหมวกกันน็อคขณะขี่รถ

 

ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้ขับขี่ ผู้ที่ร่วมเดินทาง และประชาชนทั่วไปผู้ใช้เส้นทางสัญจรบนท้องถนน อีกทั้งลดความเสี่ยงการสูญเสียต่างๆ จากอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดตามมาได้ และลดอัตราถูกดำเนินคดีส่งฟ้องด้วย

ส่วนที่มีการรณรงค์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชาสัมพันธ์มาตรการบังคับใช้กฎหมาย เมาแล้วขับ จับขังจริง แก่ผู้กระทำผิดกรณีเมาแล้วขับในช่วงวันที่ 11-17 เม.ย.2565 ซึ่งเป็นช่วงคุมเข้ม 7 วัน ระวังอันตราย

 

โดยนำร่องพื้นที่เขตอำนาจศาลภาค 6 (จังหวัดภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง) เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้ขับขี่และลดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับนั้น 

 

หากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายจะต้องถูกส่งตัวฟ้องศาล ซึ่งศาลจะพิจารณาพิพากษาลงโทษตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน โดยโทษนั้นมีความแตกต่างกันตามพฤติการณ์ของแต่ละคนที่ได้กระทำจริง ซึ่งความหนัก-เบาจะขังจริงหรือไม่ เป็นดุลยพินิจที่ศาลจะพิจารณาจากคำให้การประกอบพยานหลักฐาน

 

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกำหนดโทษอัตราใด เช่น จำคุก รอลงอาญา การสั่งคุมประพฤติ เพื่อลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุ และการสูญเสียจากพฤติกรรมดื่มแล้วขับโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศกาลวันหยุดยาว

 

จึงฝากประชาชนทุกคนตระหนักถึงการขับขี่ปลอดภัย ปฏิบัติตามกฎจราจร และ ใส่ใจผู้ร่วมใช้เส้นทางจราจรด้วย เพื่อให้ทุกคนกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยไร้คดี ได้ใช้วันหยุดกับครอบครัว

สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก ระบุข้อมูลถึงอัตราโทษของการเมาแล้วขับไว้ดังนี้ 

 

กรณีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

  • สำหรับผู้ขับขี่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือ ผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ใบอนุญาตแบบ 2 ปี) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ. 2550 ออกความในพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ถือเป็น “ผู้เมาสุรา”

 

กรณีปริมาณเแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

  • มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน 

 

การปฏิเสธเป่า 

  • มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 - 20,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน และศาลสามารถสั่งพักใบอนุญาตขับรถ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และสามารถยึดรถไว้ไม่เกิน 7 วัน

 

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่น “บาดเจ็บ”

  • จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

 

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่น “บาดเจ็บสาหัส”

  • จำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี 

 

เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่น “ถึงแก่ความตาย”

  • จำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที