ถอดบทเรียน 'คดีแตงโม' พลัดเรือ ตกน้ำ เรียนรู้ 3 ท่าลอยตัว เอาตัวรอดเบื้องต้น

01 มี.ค. 2565 | 00:44 น.

ถอดบทเรียน 'คดีแตงโม - นิดา' พลัดเรือตกน้ำกลางแม่น้ำเจ้าพระยา อุบัติเหตุ หรือ ฆาตกรรม คนบนเรือ 5 คนเท่านั้นที่รู้! ขณะเปิดสถิติ แต่ละปีทั่วโลก มีคนจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 372,000 คน เรียนรู้ 3 ท่าลอยตัว วิธีช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นเมื่อตกน้ำ และควรช่วยคนตกน้ำอย่างไร?

1 มีนาคม 2565 - ยังคงเป็นปริศนา สำหรับบทสรุป คดีแตงโม-นิดา พลัดตกเรือสปีดโบ๊ทเสียชีวิต ระหว่างออกไปล่องเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมเพื่อน กระติก - ไฮโซปอ-จ๊อบ -แซน และ เบิร์ด ซึ่งตำรวจเตรียมนำเพื่อนแตงโมทั้ง 5 คน เข้าเครื่องจับเท็จ เค้นความจริง หลังจากแม่แตงโม เพื่อนในวงการ และสังคม คาแคลงใจพฤติกรรมและคำพูดหลายอย่างของคนที่อยู่บนเรือ ปักธงไม่มั่นใจว่าเป็นเพียงอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ แม้คดีแตงโม ยังไม่มีบทสรุปถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของแตงโม แต่คดีนี้กลายเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจหลายๆด้าน และมีคำถามตามมา หากตนเองเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน พลัดเรือ - ตกน้ำ หรือ ไปพบเจอคนตกน้ำ (ในเหตุการณ์ปกติ) ในลักษณะเดียวกัน จะมีวิธีช่วยเหลือตัวเอง เอาตัวรอดเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง 

ล่าสุด ทัพเรือภาคที่ 3 โพสต์ข้อมูลให้ความรู้ ถึงวิธีการช่วยเหลือตนเองเมื่อตกน้ำ เทียบเหตุการณ์จำลอง ทหารที่สวมใส่เครื่องแบบและรองเท้าคอมแบท ในทะเลที่ไกลจากฝั่ง หรือมีคลื่นลมแรง โดยระบุประการแรก อย่าตระหนกและตั้งสติให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งพยายามลอยตัวด้วยท่าต่างๆ เหล่านี้ โดยใช้พลังงานให้น้อยที่สุด รอการช่วยเหลือต่อไป

 

3 ท่าลอยตัวเอาตัวรอดเมื่อตกน้ำ 

  • ท่าเต่า ใช้ในการลอยตัว งอเข่าทั้งสองข้างขึ้นมาชิดหน้าอก ใช้มือทั้งสองข้างกอดเข่าเอาไว้ 

ถอดบทเรียน 'คดีแตงโม' พลัดเรือ ตกน้ำ เรียนรู้ 3 ท่าลอยตัว เอาตัวรอดเบื้องต้น

  • ท่าปลาดาวหงาย ใช้ในการลอยตัว สูดหายใจเข้าปอด หงายตัว กางแขนกางขา เชยคงขึ้นเพื่อหายใจ 

ถอดบทเรียน 'คดีแตงโม' พลัดเรือ ตกน้ำ เรียนรู้ 3 ท่าลอยตัว เอาตัวรอดเบื้องต้น

  • ท่าปลาดาวคว่ำ ใช้ในการลอยตัว สูดหายใจเข้าปอด คว่ำหน้า กางแขนกางขา 

ถอดบทเรียน 'คดีแตงโม' พลัดเรือ ตกน้ำ เรียนรู้ 3 ท่าลอยตัว เอาตัวรอดเบื้องต้น

ขณะหลังจากวานนี้ บุคคลที่อยู่บนเรือ วันเกิดเหตุแตงโมพลัดตกน้ำ  4 ราย ซึ่งประกอบไปด้วย กระติก (เพื่อนสนิทและผู้จัดการส่วนตัว) , แซน , จ็อบ และ ไฮโซปอ ร่วมตอบข้อซักถามใน รายการ โหนกระแส ช่อง 3  โดยมีพิธีกร หนุ่ม กรรชัย สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเรือก่อนดาราสาวเสียชีวิต 

ถอดบทเรียน 'คดีแตงโม' พลัดเรือ ตกน้ำ เรียนรู้ 3 ท่าลอยตัว เอาตัวรอดเบื้องต้น

ซึ่งบางช่วงบางตอน หนุ่มกรรชัยเค้นกระติก ถึงความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนรัก จากเหตุกระแสสังคมโจมตี ว่าเจ้าตัว นิ่งนอนใจเกินไป ต่อการหายไปของเพื่อนรัก และไม่อยู่รอติดตามการค้นหาตัวแตงโม แต่กลับบ้านไปหาลูก โดยพิธีกรแนะ เพื่อนที่ดีควรช่วยเหลือเมื่อเพื่อนตกอยู่ในภัยอันตราย 

 

"พี่เชื่อ คนอย่างแตงโม ถ้าเพื่อนเค้าตกน้ำ เค้าจะอยู่รอจนกว่าจะเจอ หรือ เค้าเองจะกระโดดลงไปในน้ำด้วย" 


เพื่อนตกน้ำควรกระโดดไปช่วยไหม ? 

ล่าสุด โค้ชเป้ง สาธิก ธนะทักษ์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย แสดงความเห็นและให้ความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือคนตกน้ำ ในแฟนเพจ Ez2fit ว่า คนทั่วไป เมื่อเจอเหตุการณ์คนตกน้ำ มักจะกระโดดลงไปช่วย หรือ ถ้ามีคนตกน้ำแล้วไม่กระโดดลงไปช่วย(ในกรณีไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว) คนที่อยู่บนฝั่ง จะกลายเป็นคนผิด จะต้องมีความรู้สึกผิดติดตัวตลอดไป

 

แต่ตามทฤษฎีแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ควรทำ หรือไม่ทำเลยจะดีกว่า นั่นก็คือ การกระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่จมน้ำนั่นเอง  เพราะในออสเตรเลียทุกปีมีคนเสียชีวิตราว 5 คน สาเหตุเพราะกระโดดลงไปช่วยคนตกน้ำ ซึ่งนี่อาจจะเป็นสิ่งที่ขัดกับสามัญสำนึกของเราว่าเมื่อมีคนตกน้ำสิ่งแรกที่ควรทำคือโดดลงไปช่วย แต่การรักษาชีวิตตนเองก่อนเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า  เนื่องจากถ้าเราไม่มีความรู้ความชำนาญ ร่างกายที่แข็งแรงพอ การกระโดดลงไปช่วยคนจมน้ำก็อาจจะกลายเป็นการเพิ่มผู้เสียชีวิตไปอีกคน 

 

โดยสาเหตุสำคัญที่เราไม่ควรกระโดดตัวเปล่าๆลงไปช่วย มีหลายปัจจัยได้แก่ 

  • ถ้าคนตกน้ำว่ายน้ำไม่เป็น จะเกิดความกลัว ตะเกียกตะกาย กอดรัดเราจนเอาเราจมไปด้วย (ในคู่มือของกู้ภัยจึงต้องกำหนดระยะปลอดภัย วิธีเข้าหา รวมถึงถ้าจำเป็นอาจจะต้องจัดการให้สงบก่อน) ซึ่งส่วนมากที่ลงไปช่วยแล้วเสียชีวิตก็จะอยู่ในกรณีนี้ 

 

  • ถ้าคนตกน้ำแล้วช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ลอยตัวไม่เป็น คนทั่วไปไม่น่าจะมีความแข็งแรงและทักษะพอที่จะสามารถพาคนจมน้ำลอยตัวหรือพาเข้าฝั่งได้ ผมเองตอนสมัยอยู่มหาวิทยาลัยในวิชาว่ายน้ำก็มีการทดลองให้นักศึกษาทั้งหลายลองช่วยคนจมน้ำ โดยให้เพื่อนอยู่เฉยๆ(ไม่ขัดขืนแต่ก็ไม่ลอยตัวช่วย) ซึ่งในชั้นเรียนมีนักกีฬามากมาย(ที่ไม่ใช่นักกีฬาว่ายน้ำ) ไม่มีใครสามารถพาเพื่อนที่อยู่แค่กลางสระเข้าฝั่งได้เลย 

 

  • ความอันตรายของการจมน้ำนั้นมีอีกหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน ต่อให้เรามีทักษะ ร่างกายแข็งแรง ก็ยังจำเป็นที่ต้องประเมินความลึก ความแรงของกระแสน้ำ คลื่น อุณหภูมิ ทัศนวิสัย 

 

ทั้งนี้ ในกรณีที่จำเป็นต้องลงไปช่วย กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ก็ได้แนะนำว่า ห้ามให้คนตกน้ำสัมผัสคนช่วยเหลือ โดยคนที่ลงไปช่วยควรลงไปต่อเมื่อมีอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วยและใช้อุปกรณ์นั้นโยนให้คนตกน้ำจับ 

 

โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ก็ได้ให้คำแนะนำว่า การกระโดดลงน้ำไปช่วยนั้น เป็นวิธีการที่ต้องพึงระวังอย่างมาก และผู้ช่วยเหลือต้องมีประสบการณ์ เพราะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการช่วยเหลือคนตกน้ำด้วยวิธีนี้  ซึ่งคำแนะนำในการให้ความช่วยเหลือมีหลักง่ายๆ  

 

4 วิธี คือ “ยื่น โยน พาย ลาก”

  • ยื่นอุปกรณ์ให้จับไม่ว่าจะไม้ เข็มขัด เสื้อ 
  • โยนสิ่งที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วง/เสื้อชูชีพ
  • พาย ใช้พาหนะลอยน้ำไปรับ
  • ลาก โยนเชือกให้เกาะแล้วดึงเข้ามา 
  • การตะโกน/โทรให้คนช่วย 

 

ทั้งนี้ ในรายงานสถานการณ์การจมน้ำขององค์การอนามัยโลก มีรายงานว่าทุกปีมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำมากถึง 372,000 คน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะหน่วยงานรัฐที่จะรณรงค์ สถานศึกษามีการเรียนการสอนการเอาตัวรอดเมื่อจมน้ำ การดูแลของผู้ปกครอง สื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็นการทำละคร/ภาพยนต์/รายการควรให้ความรู้ตรงตามหลักวิชาการ และที่สำคัญก็คือการดูแลตนเอง ปฏิบัติตามกฏความปลอดภัยทางน้ำอย่างเคร่งครัด สุดท้ายขอแสดงความเสียใจแก่ผู้สูญเสียทุกคนนะครับ

 

ที่มาข้อมูล : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ,เพจทัพเรือภาคที่ 3 ,เพจ Ez2fit,กองป้องกันการบาดเจ็บ