ยอดโควิดพุ่ง นายกฯสั่งด่วน เตรียมสถานพยาบาล-สถานที่กักตัวรับมือทุกรูปแบบ

21 ก.พ. 2565 | 06:24 น.

นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลทุกรูปแบบ รับมือยอดโควิดที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ใช่แค่โรงพยาบาล รวมถึง Home Isolation และกักตัวที่ชุมชน 

วันที่ 21 ก.พ. 65 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงยอดโควิด หรือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19ที่พุ่งสูงขึ้น ว่า อยู่ในกรอบที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ไว้แล้วว่าตัวเลขจะสูงขึ้นมาอยู่ในระดับนี้อีกสักระยะ 

 

แต่สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้ คือสถานที่รักษาพยาบาล โดยได้กำชับว่าต้องเตรียมพร้อมให้เพียงพอ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้น ยังรวมถึงการรักษาตนเองที่บ้าน (Home Isolation:HI) และกักตัวที่ชุมชน (Community Isolation : CI) เพื่อลดความแอดอัดในโรงพยาบาล และวันนี้ใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งต้องไปลดงบประมาณส่วนอื่นเพื่อมาเติมในส่วนนี้ด้วย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยวันนี้ ( 21 กุมภาพันธ์ 2565) พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม  18,883 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 18,721 ราย

 

ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 162 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 507,763 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)

 


ขณะที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 14,914 ราย ทำให้หายป่วยสะสมอยู่ที่ 373,651 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษา 166,397 ราย และเสียชีวิต 32 ราย

 

ขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19  ของประเทศไทย ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 -  19 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ได้รับวัคซีน สะสม รวม 121,583,665 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 53,100,356 ราย  จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 49,458,760 รายจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 19,024,549 ราย

 

ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังการสร้างข่าวปลอม และบิดเบือนข้อมูลนโยบายรัฐบาล และข่าวสารทางราชการโดยเฉพาะในเรื่องโควิด-19

 จากการติดตามตรวจสอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) พบว่าขณะนี้มีหลายข่าวที่มีการแชร์ข้อมูลจะมีการเชื่อมโยงกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชนติดตามข่าวสาร เพื่อล่อลวงให้คนเข้ามาคลิกอ่าน เกิดความตื่นตระหนก หลงเชื่อ และแชร์ข่าวปลอมโดยรู้ไม่เท่าทัน พร้อมกันนี้ก็ฝากย้ำเตือนไปยังประชาชนทุกคนใช้เทคโนโลยีและการรับข้อมูลข่าวต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน 

 

อย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ได้รับโดยทันทัน แต่ขอให้มีการพิจารณา คิดวิเคราะห์ และตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ทุกครั้งก่อนเชื่อและเผยแพร่แชร์ข้อมูลออกไป เพื่อช่วยกันป้องกันข้อมูลคลาดเคลื่อนที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปสู่ความตื่นตระหนกและความวุ่นวายในสังคมได้

 

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดรวมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บริหารจัดการสถานการณ์การแพร่รระบาดในพื้นที่ รวมทั้งเร่งนำผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษาตามลำดับอาการ