วัคซีนโควิดฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ป้องกันโอมิครอนได้ถึง 90%

15 ม.ค. 2565 | 09:49 น.

วัคซีนโควิดฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ป้องกันโอมิครอนได้ถึง 90% กรมควบคุมโรคตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 9 ล้านโดสในเดือนมกราคม

การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยปัจจุบันมีการฉีดไปแล้วกว่า 108 ล้านโดส โดยที่ในเดือนมกราคม 65 นี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าจะฉีดให้ได้อย่างน้อย 9 ล้านโดส

 

 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้ผ่านไปได้ครึ่งทางสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้า และเมื่อติดตามประเมินผลประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการวัดผลในพื้นที่จริง (Real World Effectiveness) พบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพดีมาก ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคโควิดทุกสายพันธุ์ได้ถึง 90-100%

 

 

ทั้งการฉีดสูตรปกติ สูตรไขว้ หรือบูสเตอร์โดส อีกทั้งยังสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีพอสมควร 
 

แต่สิ่งที่สำคัญคือ ระยะเวลาในการฉีดวัคซีน หากผ่านพ้น 3 เดือนไปแล้วประสิทธิภาพจะค่อยๆ ลดลง เพราะฉะนั้น การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดสจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

 

 

จากข้อมูลบ่งชี้ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ทั้งสูตรแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และไฟเซอร์ (Pfizer) มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ได้มากถึง 80-90% จากการระบาดที่จังหวัดกาฬสินธุ์

 

 

สำหรับนโยบายการบริหารจัดการวัคซีนเข็มกระตุ้นมีดังนี้ 

 

 

  • ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac-AstraZeneca ครบในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ให้ฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca 
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็ม ในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ให้ฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer 
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 2 ในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 ให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ภายในเดือนมกราคม 2565 

 

 

ส่วนผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อให้ฉีดวัคซีน AstraZeneca กระตุ้นได้ 1 เข็ม สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ แต่คนไหนที่ได้รับครบแล้วยังไม่ต้องกระตุ้น