โควิดติดเชื้อ โอมิครอน เสมือนวัคซีนฤทธิ์อ่อนกระตุ้นภูมิได้ดียังไง อ่านเลย

07 ม.ค. 2565 | 02:15 น.

โควิดติดเชื้อ โอมิครอน เสมือนวัคซีนฤทธิ์อ่อนตัวเป็นกระตุ้นภูมิได้ดียังไง อ่านเลย หมอมนูญและหมอ รพ.รามาธิบดีแดสงความเห็นตรงกัน พร้อมแนะผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว 7 โรคและหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนด่วน

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 
ธรรมชาติหาทางช่วยให้ไวรัสโควิด-19 (Covid-19) อยู่กับมนุษย์มากที่สุดและนานที่สุด ไม่ให้สูญพันธุ์จากโลกนี้ ด้วยการกลายพันธุ์ เกิดไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ลดความรุนแรงลงมาก ไม่ทำให้มนุษย์ป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิต เพื่อให้มนุษย์เป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อต่อให้เพื่อนมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ ผิวดำ ผิวขาว คนเอเซีย ทุกเพศ ทุกวัย แพร่เชื้อได้ง่ายทางการหายใจ และรวดเร็วมากกว่าทุกสายพันธุ์ดั้งเดิม ในที่สุดคนส่วนใหญ่ในโลก ไม่ช้าก็เร็วจะติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน 
 

การติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเปรียบเสมือนการได้รับวัคซีนธรรมชาติอ่อนฤทธิ์ตัวเป็น กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีกว่าวัคซีนทุกชนิดในปัจจุบัน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลมีความเห็นตรงกับผม 
ในที่สุดมนุษย์ก็จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ หยุดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างภายในปีนี้ โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เด็กเกิดใหม่ทุกคนในโลกนี้ไม่เคยรับเชื้อ ก็จะติดเชื้อนี้ทุกปี 

ติดเชื้อโอมิครอนเสมือนรับวัคซีนอ่อนฤทธิ์ตัวเป็น
ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเป็นตัวแปรสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศที่ยากจนขาดแคลนวัคซีน กับประเทศที่ร่ำรวยมีวัคซีนมากเกินพอ คนที่ได้รับวัคซีนครบโดสก็ยังติดเชื้อและแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เพียงแต่ลดความรุนแรงลง 
แต่เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง อาการเหมือนเป็นหวัดธรรมดา วัคซีนช่วยลดความรุนแรงลงได้อีก แต่ก็ไม่มากเท่าสายพันธุ์เดลตา
 

ผมแนะนำให้คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว 7 โรคและหญิงตั้งครรภ์ ที่ยังไม่ได้วัคซีนเข็มแรก รีบไปรับวัคซีนโดยด่วน และคนที่ถึงเวลาฉีดเข็มวัคซีนกระตุ้น รีบไปรับวัคซีน ก่อนที่คนส่วนใหญ่ในประเทศจะรับเชื้อโอมิครอนใน 1-2 เดือนข้างหน้า
ในอนาคต โลกอยากเห็นวัคซีนครอบจักรวาล ครอบคลุมเชื้อไวรัสโคโรนา 4 ชนิด ที่ทำให้เกิดไข้หวัดในเด็ก รวมทั้ง ซาร์ส (SARS) เมอร์ส (MERS) ไม่เฉพาะไวรัสโควิด-19 เท่านั้น
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยวันที่ 7 มกราคม 2565 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 7,526  ราย  
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,223,913 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,895 ราย กำลังรักษา 42,580 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,160,971 ราย