ยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 คืออะไร เตือนภัยมีกี่ระดับ ทำอะไรได้ไม่ได้บ้าง

21 ก.พ. 2565 | 09:10 น.

ประกาศยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 ของกระทรวงสาธารณสุข คืออะไร ทำอะไรได้ ไม่ได้บ้าง และการเตือนภัยมีกี่ระดับ ตรวจสอบข้อมูล หาคำตอบได้ที่นี่

จากกรณีที่ วันที่ 21 ก.พ.65  กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ โดยนายแพพทย์ ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุสาเหตุว่ามา จากสถานการณ์การแพร่ระบาด สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 

"ฐานเศรษฐกิจ" จึงได้รวบรวมข้อมูลของระดับการเตือนภัยโควิด หรือการควบคุมโรคแต่ละระดับว่ามีรายละเอียดของแต่ละมาตรการในการปฏิบัติตัวอย่างไร โดยมีทั้งหมด 5 ระดับ ปัจจุบันถูกยกระดับให้อยู่ระดับ 4 ซึ่งถือว่าใกล้ถึงขั้นรุนแรงสูงสุด
 

ระดับการเตือนภัยจากโรคโควิด-19 ตามประกาศของ สธ. 

ระดับ 1 

  • สถานที่เสี่ยง : เปิดทุกแห่ง ภายใต้มาตรการความปลอดภัย Covid free setting
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : Smart living, ร่วมกิจกรรมได้แบบ New Normal
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : ขนส่งสาธารณะ ภายใต้มาตรการความปลอดภัย Covid free setting
  • การเดินทางเข้าประเทศ : เดินทางได้ปกติ
     

ระดับ 2 

  • สถานที่เสี่ยง : จำกัดการเข้าสถานที่ปิด/แออัด
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : เกณฑ์จำนวนคนให้รวมกลุ่มได้ตามระดับความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค รายจังหวัด
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : ขนส่งสาธารณะ ภายใต้มาตรการความปลอดภัย Covid free setting
  • การเดินทางเข้าประเทศ : เริ่มใช้ระบบ Test & Go

 

ระดับ 3

  • สถานที่เสี่ยง : ปิดสถานบริการ งดเข้าสถานที่ปิด
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : เกณฑ์จำนวนคนให้รวมกลุ่มได้ตามระดับความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค รายจังหวัด
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : เวิร์คฟอร์มโฮม ตรวจคัดกรองก่อนเดินทาง
  • การเดินทางเข้าประเทศ : เปิดระบบแซนด์บอกซ์

 

ระดับ 4

  • สถานที่เสี่ยง : เปิดเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : เกณฑ์จำนวนคนให้รวมกลุ่มได้ตามระดับความเสี่ยงต่อการระบาดของโรครายจังหวัด งดสัมผัสกับบุคคลภายนอก
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : เวิร์คฟอร์มโฮม (WFH) ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ งดเดินทางไปต่างประเทศ งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท
  • การเดินทางเข้าประเทศ : การเดินทางเข้าประเทศต้องกักตัว (ลดวันกักตัว) 
  • ส่วนการควบคุมโรคระดับระดับต่างๆ ที่เหลือประกอบด้วย

 

ระดับ 5

  • สถานที่เสี่ยง : เปิดเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : เกณฑ์จำนวนคนให้รวมกลุ่มได้ไม่เกิน 5 คน
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : เคอร์ฟิว ตรวจคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่
  • การเดินทางเข้าประเทศ : ต้องกักตัวทุกราย

การเตือนภัยจากโควิดระดับต่างๆ
อย่างไรก็ดี หากย้อนรอยการแพร่ระบาดของโควิดระลอกต่างๆที่ผ่านมาของประเทศไทย ประกอบด้วย

 

ระลอกที่ 1 (Wave 1) ช่วงมกราคม-พฤษภาคม 2563 ด้วยไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น ดำเนินการด้วยมาตรการเข้มงวดมาก ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพียง 4000 ราย เสียชีวิต 60 ราย

 

ระลอกที่ 2 (Wave 2) ช่วงธันวาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564  ด้วยไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่ใช้มาตรการที่ผ่อนคลายไม่ได้เข้มเท่าระลอกที่ 1 จึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเป็น 24,863 ราย แต่เสียชีวิตเพียง 34 ราย

 

ระลอกที่ 3 (Wave 3) ช่วงเมษายน-ธันวาคม 2564 เริ่มต้นด้วยสายพันธุ์อัลฟาในเดือนเมษายน และเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์เดลตาในเดือนมิถุนายน  ซึ่งทำให้บางท่านเรียกแยกเป็นระลอกที่ 3 และระลอกที่ 4 แต่เมื่อดูจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อจากไวรัสอัลฟาต่อด้วยเดลตา ไม่มีลักษณะการแยกระลอกที่ชัดเจน จึงขอเรียกเป็นระลอกเดียวกัน คือ ระลอกที่ 3 มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 2,185,849 ราย เสียชีวิต 21,536 ราย ด้วยมาตรการผ่อนสั้นผ่อนยาว และค่อยทยอยเข้มเป็นลำดับ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยวันนี้ ( 21 กุมภาพันธ์ 2565) พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม  18,883 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 18,721 ราย

 

ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 162 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 507,763 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)

 

ขณะที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 14,914 ราย ทำให้หายป่วยสะสมอยู่ที่ 373,651 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษา 166,397 ราย และเสียชีวิต 32 ราย

 

ขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19  ของประเทศไทย ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 -  19 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ได้รับวัคซีน สะสม รวม 121,583,665 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 53,100,356 ราย  จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 49,458,760 รายจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 19,024,549 ราย