เปิดเหตุผล 5 ข้อที่อาการของ "โอมิครอน" รุนแรงน้อยลง เพราะอะไร เช็กเลย

05 ม.ค. 2565 | 01:20 น.

เปิดเหตุผล 5 ข้อที่อาการของ "โอมิครอน" รุนแรงน้อยลง เพราะอะไร เช็กเลย หมอยงชี้มีการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมาก คนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้วจำนวนมาก

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า โควิด-19 (Covid-19) โอมิครอน (Omicron) เหตุผลที่ทำให้อาการของโรครุนแรงน้อยลง
หมอยง ระบุว่า โอมิครอน ก่อโรคโควิด-19 เหตุผลที่ทำให้อาการของโรครุนแรงน้อยลง 
1.การติดเชื้อในเด็กเพิ่มมาก เด็กติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง อาการเหมือนหวัดหรือไม่มีอาการ อาการจะรุนแรงสูงตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
2.ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้วจำนวนมาก รวมทั้งผู้สูงอายุทำให้อาการของโรคลดลง
3.ด้วยตัวไวรัสเอง การศึกษาในสถานการณ์จริง เช่นในแอฟริกาใต้ ปรับตัวแปรต่าง ๆ แล้ว โอมิครอนสร้างความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา

4.จากการศึกษาในเซลล์ทดลอง ไวรัส โอมิครอน ชอบเยื่อบุเซลล์ทางเดินหายใจส่วนต้นมากกว่าเนื้อเยื่อถุงลมปอด เป็นเหตุผลให้ไวรัสลงปอดได้น้อยกว่า
5.ตามหลักวิวัฒนการของสิ่งมีชีวิต ตามทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน สิ่งมีชีวิตจะต้องปรับตัวให้เหมาะสมเพื่อความอยู่รอด ไวรัส ปรับตัวเข้าหาเซลล์เจ้าบ้าน เพื่อความอยู่รอด มนุษย์ติดเชื้อแล้วก็มีภูมิต้านทาน ไวรัสก็พยายามปรับตัว ให้อยู่กับเซลล์เจ้าถิ่นให้ได้ดีที่สุด ถ้าทำลายเซลล์เจ้าบ้านมากก็ไม่มีบ้านอยู่เหมือนกัน เชื่อว่าไวรัสทางเดินหายใจหลายตัว ในอดีตที่อุบัติขึ้นในระยะแรกก็ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรค และปรับตัวเป็นโรคประจำถิ่น 
ขอยกตัวอย่างประเทศเดนมาร์ก ในช่วงระบาดหนักปลายปี 2563 - 2564  เข้าใจว่าเป็นสายพันธุ์อัลฟาหรืออังกฤษ  20 ธันวาคม  2563  มีผู้ป่วย 4043 คน ค่าเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 3332  คนต่อวัน มีผู้เสียชีวิตวันละ 30 คน เฉลี่ย 7 วันอยู่วันละ 30 คนเช่นกัน มาระบาดในช่วงปีนี้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2564 มีผู้ป่วย  41,035  คน (10 เท่า)

เหตุผลที่ทำให้อาการของ โอมิครอน รุนแรงน้อยลง

และค่าเฉลี่ย 7 วันในช่วงดังกล่าวเสียชีวิต  12 คนต่อวัน แสดงการเสียชีวิตในรอบที่แล้ว กับรอบใหม่ อัตราการตาย ต่อ ผู้ป่วย ต่างกันอย่างมาก
การติดเชื้อทั่วโลก ขณะนี้เพิ่มมากขึ้นวันละเป็นล้าน แต่อัตราตายโดยเฉลี่ยลดลงกว่าที่ผ่านมา

ในอดีตมาก ตัวเลขขณะนี้จะนับจำนวนผู้ป่วย เฉพาะผู้ที่ทำการตรวจยืนยันแล้วเท่านั้น ผู้ป่วยส่วนมากที่มีอาการ แล้วไม่ได้ตรวจ เช่นในประเทศที่การตรวจ  RT-PCR  ไม่ทั่วถึง และการที่ป่วยแบบไม่มีอาการ ก็มีอีกจำนวนมาก  เมื่อรวมแล้ว น่าจะเป็นจำนวนมากกว่ายอดที่แจ้งให้องค์การอนามัยโลกหลายเท่า เมื่อติดเชื้อแล้วก็จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น และการติดเชื้อครั้งต่อไปอาการความรุนแรงก็จะลดลง เหมือนโรคทางเดินหายใจอื่นๆ  ประกอบกับ มีผู้ที่ได้รับวัคซีนอีกจำนวนมาก (ปัจจุบันฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า  9000 ล้านโดส) เมื่อรวมกันแล้วน่าจะมีประชากรหลายพันล้านคนที่มีภูมิต้านทานแล้ว จากการติดเชื้อหรือได้รับวัคซีน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อประชากรส่วนใหญ่มีภูมิเกิดขึ้น และความรุนแรงของโรคน้อยลง อัตตราตายของโรคในปัจจุบันจึงมีลดลงมาโดยตลอด และในที่สุดเชื่อว่า องค์การอนามัยโลก จะเลิกนับจำนวนผู้ป่วย และหลังจากนั้น ก็จะทำการตรวจเฉพาะผู้ที่มีอาการของโรคเท่านั้น จะไม่เหวี่ยงการตรวจ  RT-PCR ที่มีราคาแพง  มากมาย เหมือนในปัจจุบัน  จะตรวจในผู้ที่มีอาการ หรือกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องการรักษาหรือมีอาการมาก โดยเฉพาะเมื่อมียารักษาจำเพาะ เพื่อลดความรุนแรง  และทุกคนก็จะยอมรับและปรับตัวได้มากขึ้น
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 5 มกราคม 2565 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 3,899  ราย  
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,210,612 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,508 ราย กำลังรักษา 34,877 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,155,403 ราย