ไทยรอด "โอมิครอน" ระบาดยาก หมอเฉลิมชัยชี้เชื้อไวรัสไม่มีพรหมแดนเขตประเทศ

15 ธ.ค. 2564 | 06:35 น.

ไทยรอดโอมิครอนระบาดยาก หมอเฉลิมชัยชี้เชื้อไวรัสไม่มีพรหมแดนของเขตประเทศ แนะเร่งเร่งฉีดวัคซีนเข็มสองให้ครบ 50,000,000 คน

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
โอมิครอน (Omicron) แพร่ระบาดรวดเร็วกว่าที่คาดไว้มาก พบติดเชื้อในลอนดอน มากถึง 40% จะแซงเดลตาในอีกสองวันข้างหน้า และพบในประเทศจีนเป็นรายแรกแล้ว
มีคำถามมาโดยตลอดตั้งแต่ 26 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้ไวรัสโอมิครอนเป็นไวรัสที่น่าเป็นห่วงกังวล
คำถามก็คือ ไวรัสใหม่จะแพร่ระบาดรวดเร็วกว้างขวางมากน้อยเพียงใด จะแพร่เร็วเหนือกว่าเดลตา จนแซงเดลตาได้หรือไม่
เหตุผลของความกังวล ก็มาจากความรู้ทางวิชาการว่า ไวรัสโอมิครอนมีการเปลี่ยนแปลงส่วนหนามมากกว่าเดลตาถึง 3.5 เท่า ( 32 VS 9 ตำแหน่ง )
และหนามนี้เอง เป็นส่วนที่ไวรัสใช้ในการเกาะติดเซลล์มนุษย์ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดนั่นเอง

หลังจากมีความห่วงกังวลดังกล่าว ก็มีการเก็บข้อมูลมาเป็นลำดับ เกี่ยวกับการแพร่ระบาดดังนี้
1.เมื่อตอนองค์การอนามัยโลกประกาศ ก็มี 8 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้พบผู้ติดเชื้อแล้ว
2.เพียงระยะเวลาสองสัปดาห์ มีการแพร่ระบาดไปมากถึง 6 ทวีปและ 60 ประเทศ
3.บางประเทศมีการแพร่ระบาดแบบก้าวกระโดดรวดเร็ว เช่น อังกฤษมีการเพิ่มของผู้ติดเชื้อเป็นสองเท่าหรือ 100% ทุกสามวัน จนขณะนี้ในนครลอนดอน ผู้ติดเชื้อใหม่เป็นโอมิครอนมากถึง 40%  และทั้งประเทศ 20% และคาดว่าสายพันธุ์หลักของนครลอนดอนในอีกสองวันข้างหน้า ก็จะเป็นโอมิครอน
4.ประเทศอันดับหนึ่งในเรื่องความสามารถในการควบคุมการระบาดของโควิดคือจีน ก็มีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกเรียบร้อยแล้ว ที่เมืองเทียนจิน ทางภาคเหนือ โดยไม่มีอาการ แต่ตรวจพบเป็นบวกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564

จึงพอจะสรุปได้ว่า
1.ไวรัสโอมิครอนมีการเปลี่ยนแปลงส่วนหนามมากกว่าเดลตา 3.5 เท่า
2.ไวรัสโอมิครอนแพร่เร็วกว่าเดลตา 2-5 เท่า
3.อังกฤษมีอัตราเพิ่มผู้ติดเชื้อ 100% ทุก 3 วัน และโอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์หลักในนครลอนดอนสัปดาห์นี้ คาดว่าจะติดเชื้อสูงสุดถึงวันละ 200,000 ราย และก่อนจบระลอกนี้ อาจจะมีผู้ติดเชื้อ 20-40 ล้านคน
4.จีนพบผู้ติดเชื้อรายแรกแล้ว ทั้งที่เป็นประเทศที่มีมาตรฐานสูงมากในการควบคุมการระบาด
5.ประเทศไทยคงจะหลีกเลี่ยงการพบโอมิครอนระบาดในประเทศได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของมนุษยชาติร่วมกัน เป็นเรื่องที่ไม่มีพรมแดนของเขตประเทศ

ไทยเลี่ยงโอมิครอนระบาดได้ยาก
สิ่งที่ประเทศไทยควรเตรียมรับมือในช่วงเวลาที่เหลืออยู่คือ
1.ยืดและชะลอเวลาที่จะมีโอมิครอนระบาดให้ออกไปนานที่สุด
2.ใช้เวลาที่เหลืออยู่ เร่งฉีดวัคซีนเข็มสองให้ครบ 50,000,000 คน
3.ร่นระยะเวลาการฉีดเข็มสามให้สั้นลง โดยควรฉีดเข็มสามให้ครบอีก 50 ล้านโดสภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า
4.เตรียมความพร้อมด้านระบบสุขภาพที่จะรับมือไวรัสโอมิครอนที่หลีกเลี่ยงการระบาดได้ยาก ทั้งเรื่องจำนวนเตียง อุปกรณ์การตรวจวินิจฉัย บุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และที่สำคัญคือ รณรงค์ให้ประชาชนคงการมีวินัยต่อเนื่อง ที่จะเว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัย ก็จะสามารถรับมือกับไวรัสโอมิครอนได้ดีในระดับหนึ่ง
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อ Covid-19 ในประเทศไทย วันที่ 15 ธันวาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น  3,370 ราย  
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,149,413 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 29 ราย หายป่วยเพิ่ม 4,557 ราย กำลังรักษา 46,315 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,083,275 ราย