จับตาพายุ 2 ลูก เช็คเลยกระทบไทยหรือไม่

14 ธ.ค. 2564 | 08:11 น.

เพจพยากรณ์อากาศประเทศไทย - กรมอุตุนิยมวิทยา จับตาโอกาสเกิดพายุ 2 ลูก คาดพายุหมุนเขตร้อน อาจกระทบภาคใต้ฝั่งตะวันตกช่วงวันที่ 20-21 ธ.ค.มีฝนตกหนัก ส่วนพายุโซนร้อน "ราอี (RAI) ไม่น่าจะส่งผลกระทบไทย

เพจเฟซบุ๊ก"พยากรณ์อากาศประเทศไทย" โดยบริษัท ซีพีเอส เ​ว​เธอร์​ จำกัด และ บริษัท​ ซีพี​เอส​ อะกริ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน "ฟ้าฝน" ได้โพสต์ข้อความโดยระบุว่าประมาณวันที่  20-21 ธ.ค. จับตาระบบที่มีโอกาสพัฒนาตัวขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อนทางตะวันตกเฉียงใต้ของภาคใต้  ส่วน Tropical Storm Rai ที่มาจากทางฟิลิปปินส์ ไม่น่าจะส่งผลต่อไทย 

 

ทั้งนี้เพจพยากรณ์อากาศประเทศไทยได้เผยเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงผลการพยากรณ์ล่วงหน้าตามหลักวิชาการ เพื่อประโยชน์ในการเตรียมความพร้อม ยังไม่สามารถยืนยันได้จนกว่าจะเกิดขึ้นจริง ต้องรอการยืนยันจากการสังเกตจริงเสียก่อน 

สำหรับพายุที่ต้องจับตาในช่วงนี้คือ 

 

1) Tropical Storm Rai ขณะนี้อยู่ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ ผลพยากรณ์พบว่า จะเคลื่อนเข้ากลางค่อนล่างของฟิลิปปินส์ ประมาณ 16 ธ.ค. เมื่อพ้นฟิลิปปินส์จะมุ่งหน้ามาทางเวียดนาม แต่พลังงานน่าจะแผ่วลงไปประมาณ 22-23 ธ.ค. ก่อนเข้าฝั่ง ผลพยากรณ์ล่าสุดพบว่า พายุลูกนี้น่าจะไม่ส่งผลต่อไทย

 

2) ประมาณ 20-21 ธ.ค. จับตาระบบบริเวณหัวเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย มีโอกาสพัฒนาตัวขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน (วงสีแดงในรูปบน) หากเกิดขึ้นจริง

  • จะเคลื่อนที่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าภาคใต้ฝั่งตะวันตก เริ่มประมาณ 20 ธ.ค.
  • 20-21 ธ.ค. จับตาโอกาสเกิดฝนตกหนัก บริเวณที่วงสีชมพูไว้

จับตาโอกาสเกิดพายุ 2 ลูก เช็คเลยกระทบประเทศไทยหรือไม่

กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่าในช่วงวันที่ 15 - 17 ธ.ค. 64 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณเกาะบอร์เนียวจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซีย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

 

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับชาวเรือบริเวณภาคใต้ตอนล่างควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย 

 


ส่วนในช่วงวันที่ 17- 22 ธ.ค. 64 ยังต้องติดตามพายุโซนร้อน "ราอี (RAI) "บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ ลงสู่ทะเลจีนใต้ ตอนกลาง จะทวีกำลังแรงขึ้นได้อีก แต่จะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนาม
 

 

 

ที่มาข้อมูล-ภาพ :กรมอุตุนิยมวิทยา และ เพจเฟซบุ๊กพยากรณ์อากาศประเทศไทย