ไขข้อสงสัยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องทำอย่างไร เว้นระยะห่างแค่ไหน เช็กเลย

27 พ.ย. 2564 | 04:54 น.

หมอยงเผยข้อมูลหลักเกฑ์การการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องทำอย่างไร ระยะห่างแค่ไหน ระบุไทยเป็นประเทศเสรี มีวัคซีนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การตัดสินใจจะอยู่ที่ทุกคน

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า 
โควิด-19 วัคซีน คำถามที่ถามมามากขณะนี้ 
วัคซีนในประเทศไทยขณะนี้มีเป็นจำนวนมาก เพียงพอ และกำลังจะเข้ามาอีกโดยเฉพาะของภาคเอกชน
วัคซีนในประเทศไทยมีหลากหลายชนิดมาก ตั้งแต่เชื้อตาย  Virus Vector  และ mRNA
โดยหลักเกณฑ์ 
ใครยังไม่เคยได้รับวัคซีน ควรได้รับอย่างน้อย 2 เข็มก่อน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนยี่ห้ออะไร (ขณะนี้มี 11 ล้านคนยังไม่ได้)

ผู้ที่ได้รับ 2 เข็มและได้รับการกระตุ้นเข็ม 3 แล้ว ให้รอก่อน ภูมิต้านทานเหมือนน้ำเต็มขันเติมลงไปก็ล้น ไม่ได้สูงมากขึ้น รอปีหน้าหรืออีก 6 เดือนข้างหน้า แล้วค่อยพิจารณาเพิ่ม 
ผู้ที่จองวัคซีนภาคเอกชนไว้ (Modena) และไปฉีดเป็นเข็ม 3 มาแล้ว หรือได้รับเข็ม 3 แล้ว ก็ขอให้เลื่อนไปก่อน (น่าจะเจรจาได้ หรือโอนสิทธิ์ให้ผู้อื่น) รอไปอีกสักระยะหนึ่ง เช่น 6 เดือนหลังเข็มสามแล้วค่อยว่ากัน
ใครจะฉีดเข็ม 4 เลย (เสียดายเงิน) ก็ เป็นสิทธิ์ แต่ต้องรับความเสี่ยงเกินความจำเป็น กับอาการข้างเคียง ที่เหมือนกับการให้วัคซีน โดยเฉพาะ mRNA อาการข้างเคียงจะพบมากในเข็ม 2 มากกว่าเข็มแรก

โควิด-19 วัคซีนต้องฉีดอย่างไร
ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ติดเชื้อ ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องฉีดในปีนี้
ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือไม่เคยได้รับวัคซีน แล้วติดเชื้อ แนะนำให้วัคซีนเพียงเข็มเดียวพอ ควรเป็น Virus Vector  หรือ mRNA
ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มมานาน 6 เดือนแล้ว ควรได้รับการกระตุ้นเข็มที่ 3  เข็มกระตุ้นนี้ควรเป็น Virus Vector  หรือ mRNA หรืออยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่จะให้ ช้า หรือเร็ว

ประเทศไทยขณะนี้มีวัคซีนอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก วัคซีนที่ใช้อยู่ ยังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน การให้มากหลายๆเข็ม ความเสี่ยงอาการข้างเคียง ก็ยังไม่มีใครบอกได้ทั้งหมด เพราะเพิ่งใช้มาประมาณ 1 ปี
ประเทศไทยเป็นประเทศเสรี มีวัคซีนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การตัดสินใจจะอยู่ที่ตัวเราทุกคนด้วย
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทยนั้น " ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามชข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-25 พ.ย. 64 มีการฉีดสะสมแล้วทั้งหมด 90,735,069 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 47,331,644 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 40,202,745 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 3,200,680 ราย