เว้นระยะห่างเกิน 1 ม.ลดติดเชื้อ 5 เท่า หมอธีระชี้เด็กติดโควิดมากกว่าที่เห็น

24 พ.ย. 2564 | 02:08 น.

หมอธีระชี้เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร ลดอัตราติดเชื้อลงได้ 5 เท่า เผยเด็กอาจมีการติดเชื้อมากกว่าการรายงานตรวจพบในระบบปกติ

รายงานข่าวระบุว่า  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 
24 พฤศจิกายน 2564
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 508,509 คน ตายเพิ่ม 6,707 คน รวมแล้วติดไปรวม   258,952,502 คน เสียชีวิตรวม 5,181,524 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา เยอรมัน สหราชอาณาจักร รัสเซีย และฝรั่งเศส
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 95.88% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 93.33%
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึง 65.35% ของทั้งโลก พอๆ กับจำนวนเสียชีวิตเพิ่มที่คิดเป็น 62.15% 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 5,126 คน สูงเป็นอันดับ 23 ของโลก
หากรวม ATK อีก 1,516 คน จะขยับเป็นอันดับ 20 ของโลก
รายงานขององค์การอนามัยโลก WHO Weekly Epidemiological Update วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564
ระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 6% และตายเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
ทั้งนี้ระบาดหนักในยุโรป เพราะติดเพิ่มขึ้น 11% ตายเพิ่มขึ้น 3% 

เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตรลดอัตราติดเชื้อลงได้ 5 เท่า
ในขณะที่ทวีปอเมริกา และแปซิฟิกตะวันตก ติดพอๆ เดิม แต่ตายเพิ่มขึ้น 19% และ 29% ตามลำดับ

ส่วนเอเชีย แอฟริกา และเมดิเตอเรเนียนตะวันออก ติดและตายลดลง

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกได้เน้นย้ำความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เนื่องจากประเทศต่างๆ มีการเปิดการเดินทางระหว่างกันมากขึ้นจึงมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดกันมากขึ้น การใส่หน้ากาก และเว้นระยะห่างจากคนอื่น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
ล่าสุดข่าวออกมาว่า นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสติดเชื้อโควิด-19 โดยพบว่าลูกสาววัย 11 ขวบก็ติดเชื้อด้วย จากการที่นายกฝรั่งเศสติดเชื้อ ทำให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีของเบลเยี่ยม ก็ต้องทำการแยกกักตัวเพื่อสังเกตอาการ เนื่องจากเพิ่งประชุมกับทางนายกฝรั่งเศส
ความสำคัญของการป้องกันในครอบครัว
Zinszer K และทีมวิจัยจากแคนาดา ได้เผยแพร่งานวิจัยใน JAMA Network Open เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2564
โดยทำการศึกษาในเด็กอายุ 2-17 ปี ในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา จำนวน 1,632 คน ตั้งแต่ตุลาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564
พบว่ามีเด็กจำนวน 95 คนที่ตรวจพบว่ามีระดับแอนติบอดี้ในเลือด ซึ่งบ่งถึงการที่มีการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน
ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มที่ตรวจพบนี้ มีถึง 82% ที่ไม่เคยตรวจหรือเคยตรวจ RT-PCR แล้วได้ผลลบ 
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า เด็กอาจมีการติดเชื้อมากกว่าที่มีการรายงานตรวจพบในระบบปกติ 
ทั้งนี้ภาวะดังกล่าว ก็จะเป็นหนึ่งในกลไกการแพร่เชื้อในครัวเรือน และในชุมชนไปได้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งหากกลุ่มเด็กและเยาวชนยังเป็นกลุ่มที่ได้วัคซีนน้อย หรือยังไม่ได้รับวัคซีน การสอนให้มีความรู้และทักษะในการป้องกันตัวจากการติดเชื้อจึงมีความสำคัญมาก
นอกจากนี้ในครอบครัวเอง พ่อแม่ก็จำเป็นจะต้องคอยหมั่นสังเกตลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการไม่สบาย ก็จำเป็นต้องป้องกันสมาชิกในครอบครัวให้ดี ควรหยุดเรียน และพาไปดูแลรักษาให้หายก่อนจะกลับไปเรียน
ใส่หน้ากากสำคัญมาก
เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร ลดอัตราติดเชื้อลงได้ 5 เท่า
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม  5,857 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64)  2,053,129 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 55 ราย หายป่วย 7,318 ราย กำลังรักษา 81,577 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,952,445 ราย