ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มผลวิจัยพบมีระดับภูมิคุ้มกันสูงแค่ 3 เดือน

27 พ.ย. 2564 | 00:11 น.

หมอเฉลิมชัยเผยผลวิจัยขนาดใหญ่จากอิสราเอลพบฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มมีระดับภูมิคุ้มกันสูงแค่ 3 เดือน และลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ 6 เดือนเป็นต้นไป

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
การศึกษาขนาดใหญ่ในอิสราเอล พบวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม จะป้องกันการติดเชื้อได้ 6 เดือน โดยหลังเดือนที่ 3 ประสิทธิผลจะเริ่มลดลง
เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปในขณะนี้ว่า วัคซีนป้องกันโควิด -19 จะต้องฉีดในเบื้องต้นให้ครบ 2 เข็ม
แม้ว่าวัคซีนของ JNJ เดิมเคยประกาศให้ฉีดหนึ่งเข็มก็อาจจะต้องฉีดสองเข็มด้วยเช่นกัน
และเมื่อมีข้อมูลออกมาอย่างต่อเนื่อง จากการเก็บตัวเลขว่า หลังจากฉีดวัคซีนสองเข็มผ่านไประยะหนึ่งแล้วระดับภูมิคุ้มกันและประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ ก็ค่อยๆลดลง
แต่มีการศึกษาที่เป็นระบบและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการค่อนข้างน้อย

ขณะนี้มีรายงานการศึกษาคุณภาพสูงจากประเทศอิสราเอล ลงตีพิมพ์ในวารสาร BMJ สรุปในเบื้องต้นได้ว่า
เมื่อฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม ระดับภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลในการป้องกันเชื้อ จะดีอยู่ประมาณ 3 เดือน
หลังจากนั้นประสิทธิผลจะทยอยลดลงทุกเดือน และในเดือนที่ 6 เป็นต้นไป ความสามารถหรือประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจะลดลงอย่างชัดเจน
ทำให้อาจจะต้องมีการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 หลังจากฉีดเข็ม 2 แล้ว 6 เดือน
โดยข้อมูลในเบื้องต้นนั้น ศึกษาโดย RILHS : Research Institute of Leumit Health Service ของอิสราเอล ประกอบด้วย

ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็มป้องกันโควิดได้ 6 เดือน
1.เริ่มมีการฉีดวัคนไฟเซอร์ 2 เข็มขนานใหญ่ในประเทศอิสราเอล เมื่อเดือนธันวาคม 2563
2.หลังจากนั้นการติดเชื้อและการเสียชีวิตจากโควิดได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
 

3.แต่ก็เริ่มมีการติดเชื้อเพิ่มมากอย่างชัดเจน เป็นระลอกใหม่ในเดือนมิถุนายน 2564 หรือประมาณ 6 เดือนหลังจากการฉีดครบสองเข็ม
4.ทั่วโลกมีหลายประเทศ ที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มในอัตราสูง 70% ของประชากร แต่ก็ยังมีการระบาดติดเชื้อละลอกใหม่
5.โดยมีปัจจัยหลายประการ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น หนึ่งในนั้นคือ ระดับภูมิคุ้มกันลดลง เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากฉีดวัคซีนครบสองเข็ม
6.ระดับภูมิคุ้มกันที่ค่อยๆลดลงหลังการฉีดเข็มสองพบว่ามีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ
7.ประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด ซึ่งเป็นผลมาจากวัคซีนนั้น มีผลจากสูงไปหาต่ำคือ
7.1 ป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
7.2 ป้องกันการป่วยที่มีอาการเล็กน้อย
7.3 ป้องกันการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการป่วย
8.การป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจนอาจเสียชีวิต จะขึ้นอยู่กับทีเซลล์(T-cell) มากกว่าระดับภูมิคุ้มกัน
9.จึงต้องมีการศึกษาที่มีจำนวนตัวอย่างมากพอ และมีการออกแบบระเบียบวิธีวิจัยที่เชื่อถือได้ เพื่อหาช่วงเวลาเหมาะสม ที่จะฉีดกระตุ้นเข็ม 3
10.การศึกษาครั้งนี้ เป็นการเก็บเวชระเบียนสุขภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนมากถึง 80,057 ราย อายุเฉลี่ย 44 ปี
11.โดยตรวจหาการติดเชื้อด้วยวิธี PCR หลังเข็มสอง ตั้งแต่ 3 สัปดาห์เป็นต้นไป ว่าไม่ติดเชื้อในเบื้องต้น
12.ในทุกกลุ่มอายุ หลังจากฉีดวัคซีนเข็ม 2 ครบ 3สัปดาห์ จนถึง 3 เดือน พบดังนี้
ที่ 3 เดือน (21-89 วัน)
พบการติดเชื้อ 1.3%
ที่ 4 เดือน (90-119 วัน)
พบการติดเชื้อ 2.4%
ที่ 5 เดือน (120-149 วัน)
พบการติดเชื้อ 4.6%
ที่ 6 เดือน (150-179 วัน )
พบการติดเชื้อ 10.3%
และที่มากกว่า 6 เดือน (> 180 วัน )
พบการติดเชื้อ 15.5%

ไฟเซอร์จะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงประมาณ 3 เดือน
จึงเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนว่า วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)และมีประสิทธิภาพสูง ในการกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน และส่งผลถึงป้องกันการติดเชื้อนั้น
จะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงอยู่ประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นจะทยอยลดลงเป็นลำดับ และลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ 6 เดือนเป็นต้นไป ทำให้มีผู้ติดเชื้อได้มากถึง15.5% แม้ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้วก็ตาม
จึงทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มทยอยออกนโยบายจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็ม 3 ทั่วประเทศ มิเช่นนั้นจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ ทั้งที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 แล้วได้ 70% ของประชากรก็ตาม
และตัวเลขที่น่าสนใจคือ ควรฉีดเข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 ที่ 6 เดือน ยกเว้นในกลุ่มเสี่ยง ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี
อาจต้องพิจารณาฉีดที่ 3 เดือนซึ่งประเทศไทยก็ได้มีการเตรียมการตามแนวทางดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก  ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม  6,335 ราย 
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,059,464 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 37 ราย หายป่วย 7,218 ราย กำลังรักษา 80,657 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,959,663 ราย