"Long Covid" เกิดได้ถึง 50% หมอธีระห่วงภาระหนักตกที่ระบบสุขภาพของประเทศ

05 พ.ย. 2564 | 02:07 น.

หมอธีระเผยอาการ Long Covid หรืออาการคงค้างของผู้ติดเชื้อโควิดหลังรักษาหายมีโอกาสเกิดถึง 50% ห่วงภาระหนักตกที่ระบบสุขภาพของประเทศ

รายงานข่าวระบุว่า  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
5 พฤศจิกายน 2564 ทะลุ 249 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 492,806 คน ตายเพิ่ม 7,131 คน รวมแล้วติดไปรวม 249,294,435 คน เสียชีวิตรวม 5,044,231 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร เยอรมัน และตุรกี 
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.18 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 91.19 
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 7,982 คน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก
หากรวม ATK อีก 3,001 คน จะขยับเป็นอันดับ 10 ของโลก
และไม่ว่าจะเป็นแค่ยอดที่รายงานทางการ หรือจะรวม ATK ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
สถิติการติดเชื้อใหม่ในยุโรปดูแล้วน่าเป็นห่วง
หากดูอันดับการติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของโลกจะพบว่า ใน 10 อันดับแรกมีประเทศในยุโรปอยู่ถึง 6 ประเทศ
และใน 20 อันดับแรก มีประเทศในยุโรปอยู๋ถึง 13 ประเทศ
หลายประเทศติดเชื้อเยอะ แต่จำนวนการเสียชีวิตลดลงกว่าระลอกก่อน แต่หลายประเทศนั้นติดเชื้อมากกว่าเดิม แต่จำนวนการเสียชีวิตก็มากกว่าเดิม
ปัจจัยที่ทำให้จำนวนการเสียชีวิตแตกต่างกันของกลุ่มประเทศข้างต้นคือ สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดส ซึ่งประเทศที่เสียชีวิตมากนั้นยังได้รับวัคซีนครบน้อย เช่น โรมาเนีย ยูเครน รัสเซีย ซึ่งได้รับไปราว 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศอื่นที่ตายน้อยนั้นมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบไปมากกว่า 60-70% ขึ้นไป

Long Covid มีโอกาสเกิดได้ถึง 50%
หยิบยกเรื่องนี้มาเพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไทยเราระมัดระวัง ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เนื่องจากปัจจุบันเปิดประเทศ เปิดท่องเที่ยว และมีกิจการกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อมากขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของประชากรไทยที่ได้วัคซีนครบโดสนั้นยังอยู่เพียง 44.7% และยิ่งระบบการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐานแบบ RT-PCR นั้นมีศักยภาพจำกัด เข้าถึงได้ลำบาก ไม่ครอบคลุม โอกาสที่จะเกิดการปะทุของการระบาดย่อมมีสูง และจะมีโอกาสป่วยและเสียชีวิตกันได้มากดังที่เห็นในกลุ่มประเทศที่เล่ามาข้างต้น
Long COVID หรืออาการคงค้างของผู้ติดเชื้อโควิดหลังรักษาหายแล้ว
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่หลายประเทศกำลังประสบปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีจำนวนการติดเชื้อใหม่สูงหลายพันหรือหลายหมื่นคนต่อวัน
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า ภาวะนี้เกิดได้ทั้งในผู้ติดเชื้อที่แบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย และมีอาการรุนแรง
อัตราการเกิดภาวะอาการคงค้างมีตั้งแต่ 20% ถึงราว 50% 
นอกจากนี้ยังพบว่า คนที่มีอาการคงค้างนั้นมาจากการติดเชื้อแบบไม่มีอาการได้ตั้งแต่ 19% ถึงราว 30% 
ดังนั้นยิ่งประเทศใดมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่แต่ละวันจำนวนมาก ปัญหา Long COVID ย่อมมีแนวโน้มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วย และเป็นภาระหนักที่ระบบสุขภาพของประเทศต้องเตรียมรับมือดูแลรักษาในระยะยาว

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19
จำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพ ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ และมีจำนวนคนที่เพียงพอที่จะให้การดูแลผู้ป่วย, สถานที่และรูปแบบที่เหมาะสมในการให้บริการว่าจะใช้ระบบการดูแลแบบใด เช่น ระบบบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ หรือตติยภูมิ, ระบบข้อมูลเพื่อเก็บข้อมูลติดตามและประเมินสถานการณ์ระดับพื้นที่และระดับประเทศ, กลไกการบริหารจัดการ, งบประมาณ และทรัพยากรจำเป็นอื่นๆ อาทิ เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
มิฉะนั้นหากมีปริมาณผู้ป่วยที่ประสบภาวะอาการคงค้างจำนวนมากขึ้น โดยไม่มีกลไก และทรัพยากรต่างๆ อย่างชัดเจนและเพียงพอ ก็จะรับมือลำบาก
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 8,148 ราย  
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,922,709 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย หายป่วยเพิ่ม 8,238 ราย กำลังรักษา 97,480 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,807,304 ราย