เปิดประเทศ วัคซีนโควิดไทย อยู่จุดไหน สู่ศูนย์กลางการผลิตวัคซีน

02 พ.ย. 2564 | 04:30 น.

"เปิดประเทศ" เเละ "เปิดเรียน" ภาพรวมฝั่งรัฐบาลยืนยันว่าเป็นไปด้วยดี "ฐานเศรษฐกิจ" จะขอพาไปดูอีกประเด็นที่ต้องติดตามก็คือ "วัคซีนโควิดไทย" ว่าตอนนี้อยู่จุดไหนสู่ความหวังของการเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนโควิด

เข้าสู่วันที่ 2 ของการ “เปิดประเทศ” ไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา จากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ 63 ประเทศ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มั่นใจว่าจะมีนักท่องเที่ยวที่ตัดสินใจจะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศปลายปีนี้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนภาพรวมการ “เปิดเรียน” วันแรกทั่วประเทศ มีการปฏิบัติตามมาตรการ sandbox safety zone in school คาดว่าจะสามารถทยอยเปิดโรงเรียนที่มีความพร้อมเพิ่มเติมได้อีกในระยะต่อไป

ขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยโควิดในประเทศก็ลดต่ำต่อเนื่อง แม้จะมีการผ่อนคลายให้มีการดำเนินกิจการ กิจกรรม ทางสังคมมากขึ้น

หากยังจำกันได้เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการ "Medical Hub" เห็นชอบเตรียมเปิดประเทศพื้นที่ท่องเที่ยว เพิ่ม 4 จังหวัด

โดยจะผลักดันไทยศูนย์กลางการผลิตวัคซีน ศูนย์กลางการส่งเสริมสุขภาพ และศูนย์กลางสมุนไพร เพื่อให้ขึ้นสู่การเป็นฮับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ครั้งที่ 2/2564 มีมติเห็นชอบในหลักการ 5 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น

  1. แนวทางและมาตรการในการเปิดประเทศภายใน 120 วันตามนโยบายรัฐบาล
  2. ผลักดันให้มีการผลิตวัคซีนทั้ง 4 ชนิด เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนของประเทศไทย
  3. เห็นชอบแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ในงาน World Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนเมษายน – ตุลาคม 2568
  4. พัฒนา Wellness Hub ของประเทศไทย
  5. เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพรองรับการเป็นศูนย์กลางสมุนไพรโลก

วันนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ขอยกเรื่อง ผลักดันให้มีการผลิตวัคซีนทั้ง 4 ชนิด เพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวว่าตอนนี้พัฒนาไปถึงจุดไหนแล้วบ้าง เพราะวัคซีนโควิดคือความหวังในการต่อสู้กับเชื้อโควิด

จากสถานการณ์โควิดระบาดมาตั้งแต่ต้นปี 2563 หลายหน่วยงานด้านวัคซีนทั้งภาครัฐและเอกชนได้ระดมสรรพกำลังในทุกด้านร่วมกันเป็น “ทีมประเทศไทย” เพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดหลายชนิด

ประเทศไทยมีนักวิจัยด้านวัคซีนที่มีศักยภาพ และได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลและทุกภาคส่วน ในการเดินหน้าวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดให้สำเร็จได้ โดยความคืบหน้าเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบว่า

1.วัคซีน Chula-Cov 19

วัคซีน Chula-Cov 19 วัคซีนโควิดชนิด mRNA เริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1/2 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

ผลการทดสอบ

ในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 ราย และกลุ่มอายุ 56-75 ปี จำนวน 36 ราย ฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์

ผลเบื้องต้นในกลุ่มอายุ 18-55 ปี พบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิกันได้ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง อาสาสมัครมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการจะดีขึ้นภายใน 1 ถึง 2 วัน

อาการที่พบ

เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น และมักพบภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2

การทดสอบในขั้นนี้ได้ทำการทดสอบในประชากรจำนวนน้อย และยังต้องติดตามผลความปลอดภัยในประชากรที่มากขึ้น ส่วนในกลุ่มอายุ 55-75 ปี ยังอยู่ระหว่างการทดสอบ

คาดว่าจะทราบผลเบื้องต้นในกลางเดือนหน้า และอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเตรียมการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ต่อไป

เตรียมความพร้อมขยายกำลังการผลิตวัคซีน และคาดว่าจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมในประเทศได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 พร้อมกันนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาวัคซีน Chula-Cov 19-2  ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์

2.วัคซีนโควิดใบยา

วัคซีนโควิด ชนิด Protein subunit จากระบบการผลิต recombinant protein โดยการตัดต่อพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืช (Agrobacterium) ในใบยาสูบ ของบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม บริษัท startup ในเครือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลการทดสอบ

ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความเป็นพิษในสัตว์ทดลองเรียบร้อยแล้ว ได้มีการปรับสูตรวัคซีนให้สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

ก่อนทำการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ บริษัทได้สร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนจากระบบดังกล่าว คาดว่าจะมีกำลังการผลิตจำนวน 1-5 ล้านโดสต่อเดือน โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างโรงงานรวม 10 เดือน

ปัจจุบันวัคซีนอยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยได้เริ่มฉีดให้กับอาสาสมัครจำนวน 4 รายแรก ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ยังไม่พบข้อกังวลด้านความปลอดภัย และจะดำเนินการฉีดให้กับอาสาสมัครรุ่นแรกที่เหลืออีก 12 ราย

ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 โดยปรับปรุงสูตรด้วยการใช้ Adjuvant ชนิดใหม่ ทำให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการพัฒนาจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนผสม (Cocktail vaccine) ซึ่งวัคซีนรุ่นที่ 2 นี้อยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลอง

3.วัคซีนต้นแบบของ สวทช. แบบพ่นจมูก

วัคซีนชนิด Viral Vector แบบพ่นจมูก วิจัยพัฒนาในสองรูปแบบ ได้แก่ การใช้ Adenovirus เป็นพาหะ (Adenovirus based) และการใช้ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นพาหะ (Influenza based)

Adenovirus based อยู่ระหว่างการทดสอบในหนูทดลอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไวต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยเป็นการเลียนแบบช่องทางการติดเชื้อในธรรมชาติ ทำให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจ และเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีน

Adenoviral Vector เข้ากล้ามเนื้อ ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่าหนูทดลองสร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจได้ดีเทียบเท่ากันทั้งรูปแบบการให้วัคซีนทางการพ่นจมูกและฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

Influenza based เป็นการประยุกต์ใช้ให้วัคซีนสามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และโควิดได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งวัคซีนชนิดนี้อยู่ระหว่างเตรียมการทดสอบในหนูทดลองซึ่งจะเป็นการให้วัคซีนแบบพ่นจมูก โดยการพัฒนาวัคซีนโควิดแบบพ่นจมูกนี้  มีทีมวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลกใช้วิธีนี้

แผนการขยายกำลังการผลิตวัคซีนชนิด Adenovirus based สวทช. ได้มีความร่วมมือกับบริษัท คินเจนไบโอเทค ส่วนวัคซีนชนิด Influenza based เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. และองค์การเภสัชกรรม

4.วัคซีน HXP-GPOVac

วัคซีนโควิดขององค์การเภสัชกรรมเป็นวัคซีนที่พัฒนามาจากไวรัสนิวคาสเซิล (NDV) ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนโปรตีนส่วนหนามของไวรัสโคโรนา (Hexapro) จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในไข่ไก่ฟักได้ เป็นเทคโนโลยีที่องค์การเภสัชกรรมสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในการผลิต

เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานระหว่างประเทศ ได้แก่ สถาบัน PATH สหรัฐอเมริกา และโรงเรียนแพทย์ Mount Sinai ในนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยเท็กซัส และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดนี้ให้กับหลายหน่วยงาน รวมถึงองค์การเภสัชกรรมด้วย

ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมได้เผยแพร่ผลงานวิจัยของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ใช้อาสาสมัครในขั้นนี้จำนวน 210 ราย

ผลการทดสอบ

พบมีผลข้างเคียงอยู่ในระดับน้อยและสามารถหายได้เอง อาการทั่วไปที่พบได้แก่ ปวด บวม บริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี

วัคซีน HXP-GPOVac อยู่ระหว่างการเตรียมทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 คาดว่าจะทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และจะสามารถขอขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565

นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าวัคซีนโควิดชนิดอื่น 

วัคซีนโควิด Covigen

วัคซีนโควิดชนิด DNA โดย บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ผู้พัฒนา ดำเนินการตั้งแต่การวิจัยพัฒนาในห้องปฏิบัติการจนกระทั่งถึงการทดสอบในสัตว์ทดลอง ทั้งหมดใช้ระยะเวลา 90 วัน

ผลการทดสอบ

เป็นวัคซีนรุ่นแรก ได้เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ที่ออสเตรเลีย ในช่วงเดือนเมษายน 2564 และต่อมาบริษัทได้เริ่มการพัฒนาวัคซีนต่อไวรัสกลายพันธุ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม

สำหรับการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาสแรกของปี 2565

รับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีนโควิดชนิด Adenoviral vector จากแอสตร้าเซนเนก้า

ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการ โดยใช้ระบบการผลิตในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แบคทีเรียหรือยีสต์