ออกพรรษา 64 รวมกิจกรรมเทศกาลงานประเพณีทั่วไทย เช็คเลย

21 ต.ค. 2564 | 08:15 น.

วันออกพรรษา 2564 วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม 2564 รวมเทศกาลงานประเพณีทั่วไทย ชาวพุทธตรวจสอบกิจกรรมทั้งหมดที่นี่

วันออกพรรษา 2564 หรือวันขึ้น 15  ค่ำ​ เดือน​ 11 ในปีนี้ตรงกับวัน​ที่​ 21 ตุลาคม 2564 ถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาอีกหนึ่งวัน  โดยเป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา​ และเป็นวันมหาปวารณาของพระสงฆ์​ ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุทำการปวารณา​ ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน​เพื่อความเจริญของพระธรรมวินัยและความผาสุขในการอยู่ร่วมกัน

 

สำหรับกิจกรรมประเพณีสำคัญในวันออกพรรษา ในแต่ละท้องถิ่นแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน แต่ถือได้ว่าวันออกพรรษาเป็นวันที่มีกิจกรรมประเพณีเทศกาลหลายอย่างดังนั้นวันนี้"ฐานเศรษฐกิจ"จึงได้รวบรวมข้อมูลจากวารสารวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มานำเสนอดังต่อไปนี้

 

ตักบาตรเทโวโรหณะ 

  • ตักบาตรเทโวโรหณะ โดยวัดต่างๆ จะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ขึ้นไปพำนักบนที่สูงของวัดก่อน แล้วเมื่อถึงเวลามงคลฤกษ์จึงค่อยนิมนต์ให้เดินเรียงแถวลงมาจากที่สูงให้ประชาชนทั้งหลายได้มองเห็นและตั้งใจใส่บาตรกันทางเบื้องล่างเลียนแบบภาพการเสด็จลงจากดาวดึงส์ของพระพุทธองค์

ประเพณีถวายกฐิน 

  • ประเพณีถวายกฐิน หรือทอดกฐิน เป็นประเพณีที่สำคัญยิ่งของพุทธศาสนิกชนอีกอย่างหนึ่ง จัดขึ้นทั้งฝ่ายเจ้านายคือ การพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินขององค์พระมหากษัตริย์ไปจนการทอดกฐินของประชาชนคนธรรมดา โดยจะนิยมทำกันตั้งแต่วันแรม 1ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 - วันลอยกระทง)

ประเพณีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก 

  • ประเพณีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก หรือ การเทศน์มหาชาติ คือการจัดให้มีธรรมเทศนาเรื่องเวสสันดรชาดก อันเป็นพระชาติสุดท้ายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญบารมีธรรมครบทั้ง 10 บารมี จึงเป็น มหาชาติ คือชาติที่ยิ่งใหญ่
  • ดังนั้นงานบุญพิธีจึงยิ่งใหญ่ตามกันไปด้วย อุบาสก อุบาสิกา มัคทายกวัดนิยมร่วมกันจัดให้มีขึ้นเป็นพิเศษ ส่วนมากจะตั้งใจจัดให้เป็นการหาทุนทรัพย์เข้าวัดครั้งสำคัญ แต่จะมียกเว้นไม่เหมือนใครอยู่ในภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฮีตสิบสองต้องปฏิบัติ จะนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า “งานบุญผะเหวด” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จถัดไปจากการทำบุญคูนลาน หรือบุญเอาข้าวเข้ายุ้ง นั้นเอง

ประเพณีทอดผ้าป่า 

  • ประเพณีทอดผ้าป่า การทอดผ้าป่า เป็นประเพณีและเป็นมรดกตกทอดมาแต่สมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้าจากคฤหัสถ์ ให้ใช้แต่ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) เท่านั้น  สำหรับฤดูของการทอดผ้าป่า จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีการกำหนดกฏเกณฑ์ใดๆ สุดแต่ชาวบ้านจะศรัทธาเลื่อมใส ส่วนใหญ่มักจะทำในระยะจวนจะออกพรรษาหรือช่วงออกพรรษาแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็จะนิยมทำรวมกันกับขบวนกฐิน คือ เมื่อทอดกฐิน เสร็จแล้ว ก็ทอดผ้าป่าหรือทอดไปตามรายทางที่ไปทอดกฐินนับเป็นหลายสิบวัดรวมๆ กันทีเดียวก็ได้

ปอยเหลินสิบเอ็ด และออกหว่า จ.แม่ฮ่องสอน

  • ปอยเหลินสิบเอ็ด หรือ ปอยเดือนสิบเอ็ด เป็นงานประเพณีเดียวของประเทศไทยที่มีช่วงระยะเวลาการจัดงานยาวที่สุดคือ ตลอด 1 เดือนเต็ม จัดขึ้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีขบวนแห่จองพารา  หรือ ปราสาทกระดาษที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งจะแห่กันในช่วงกลางคืน และมีการฟ้อนรูปสัตว์ โต หรือ จามรี นกกิงกาหล่า  หรือ กินรี กินรา กาเบ้อ หรือผีเสื้อ ไปพร้อมกับขบวนแห่ 

 

  • ส่วน“ออกหว่า” หมายถึง การออกจากฤดูฝน เป็นงานประเพณีออกพรรษาตามความเชื่อเฉพาะของชาวอำเภอแม่สะเรียงโดยงานจะเน้นที่ “การตักบาตรตีสี่” บริเวณหน้าบ้านของตนเอง ตลอดทั้ง 3 วันเทศกาล และจะตักบาตรอาหารสดในวันแรก  เนื่องจากชาวอำเภอแม่สะเรียงเชื่อว่า การตักบาตรที่หน้าบ้านของตนเองจะเป็นสิริมงคลต่อบ้านและคนในครอบครัว นอกจากนั้นยังมีการจัดทำโคมและซุ้มราชวัติตกแต่งบ้านเรือน ตลอดจนมีขบวนแห่เทียนเหง หรือเทียนพันเล่ม ซึ่งประกอบด้วยขบวนแห่ต้นโคม เครื่องไทยทาน และการแสดงศิลปะรำฟ้อนต่างๆ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการกลับจากสวรรค์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน

 

ประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม 

  • ประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม เป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนา จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 คือ วันออกพรรษา เป็นประเพณีโบราณของชาวอีสาน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยมาจากคติความเชื่อว่า เป็นการลอยเครื่องสักการะไปกับเรือไฟเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในชมพูทวีปไกลโพ้น

บั้งไฟพญานาค 

  • บั้งไฟพญานาค ไม่ใช่ทั้งเรือไฟและผาสาด หากแต่เป็นดวงไฟสว่าง ซึ่งพวยพุ่งขึ้นจากลำแม่น้ำโขงพุ่งตรงดิ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ในเขตจังหวัดริมแม่น้ำโขงไล่เรียงตั้งแต่เมืองเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ จนถึงอุบลราชธานี และจะมีกำหนดพุ่งขึ้นไปอย่างแน่นอนในโอกาสเทศกาลออกพรรษา 15 ค่ำเดือน 11 พอดี

ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จังหวัดสกลนคร 

  • มีการสร้างปราสาทจากขี้ผึ้งขึ้นอย่างสวยงามและยิ่งใหญ่ ด้วยจุดมุ่งหมายให้เป็นปราสาทเพื่อรับเสด็จการกลับมาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นประเพณีงานบุญสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสกลนคร           

 

 

ที่มาข้อมูล :วารสารวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม