"วันออกพรรษา” ความหมาย และกิจกรรมทำบุญของชาวพุทธ

20 ต.ค. 2564 | 21:55 น.

"วันออกพรรษา" ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งปีนี้คือวันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม ถือเป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา เป็นวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยในช่วงฤดูฝน “ฐานเศรษฐกิจ” ชวนผู้อ่านมาเตรียมตัวออกพรรษากันด้วยกิจกรรมทำบุญให้จิตใจผ่องแผ่วแจ่มใส

วันออกพรรษา หรือเรียกอีกอย่างว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา ชาวพุทธถือกันว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากการจำพรรษาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และยังเป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ในทุกระดับชั้นที่ได้จำพรรษาร่วมกันมาตลอด 3 เดือนสามารถ “ว่ากล่าวตักเตือน ชี้ข้อบกพร่องของกันและกันได้”  แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปด้วยความเมตตาปรานี  ปรารถนาดีต่อกัน บนพื้นฐานของความเสมอภาค เพราะคำว่า “ปวารณา” นั้น แปลว่า “อนุญาต” หรือ “ยอมให้”

 

หลังจากการทำพิธีออกพรรษาแล้วพระภิกษุสงฆ์สามารถทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ตามปกติ และสามารถค้างแรมในสถานที่ต่างๆ ที่ไปแสดงเทศนาได้ โดยที่ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติใดๆ

 

แม้การปวารณาจะเป็นเรื่องระหว่างพระสงฆ์ด้วยกัน แต่การออกพรรษาก็เป็นวาระสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน

 

โดยในวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 มีประเพณีทำบุญตักบาตร ที่เรียกกันว่า “ทำบุญตักบาตรเทโว” หรือเรียกเต็มๆ ว่า “ตักบาตรเมโวโรหนะ” สืบเนื่องจากความเชื่อตามตำนานที่ว่าวันนี้ เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจาก “เทวโลก” หลังจากที่ได้เสด็จกลับจากการไปโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บางวัดอาจจัดพิธีทำบุญตักบาตรธรรมดา แต่บางวัดก็จัดเป็นงานใหญ่โต เสร็จจากการทำบุญตักบาตร พุทธศาสนิกชนจะไปฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล

 

การทำบุญตักบาตรเทโว (ตักบาตรเทโวโรหณะ) หรือการตักบาตรดาวดึงส์นั้น โดยประเพณีที่ปฏิบัติกัน มักจะมีการนำข้าวต้มมัดและข้าวต้มลูกโยนมาใส่บาตร เสมือนการต้อนรับพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ภาพพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา

  1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
  2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
  3. ร่วมกิจกรรม "ตักบาตรเทโว" (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11)
  4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและประดับธงชาติ และธงธรรมจักร ตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
  5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

 

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษาที่นิยมปฏิบัติ คือ

  1. ประเพณีตักบาตรเทโว (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว 1 วัน) 
  2. ประเพณีพิธีทอดกฐิน (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 กำหนด 1 เดือนนับตั้งแต่วันออกพรรษา)
  3. ประเพณีพิธีทอดผ้าป่า (ไม่จำกัดกาล)
  4. ประเพณีเทศน์มหาชาติ (นิยมทำกันในวันขึ้น 8 ค่ำ หรือ วันแรม 8 ค่ำ กลางเดือน 12 ในบางท้องถิ่นอาจนิยมทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 หรือในเดือน 10)

"วันออกพรรษา” ความหมาย และกิจกรรมทำบุญของชาวพุทธ

 

ประเพณีเทศน์มหาชาติ-การทอดกฐิน

หลังจากออกพรรษา 1 เดือนจะมี ประเพณีเทศน์มหาชาติ ที่เหล่าพุทธศาสนิกชนจะร่วมกันทอดกฐิน โดยประเพณีเทศน์มหาชาติได้มีการสืบเนืองมาตั้งแต่สมัยโบราณและถือว่าการได้ฟังเทศน์มหาชาติจนจบนั้นจะได้รับผลบุญอันมหาศาลอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ภายใน 1 เดือนหลังออกพรรษา ยังมี พิธีทอดกฐิน และ ทอดผ้าป่า ที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พิธีทอดกฐินคือการสร้างความสามัคคีระหว่างคณะสงฆ์ โดยการอนุเคราะห์ภิกษุที่มีจีวรชำรุด คำว่า “กฐิน” เป็นชื่อเรียกไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้าเหล่านั่นมาห่มได้หลังจากการจำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว โดยมีเรื่องเล่าอยู่ว่าในสมัยพุทธกาล มีภิกษุจำนวน 30 รูปมีความต้องการจะเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ด้วยความที่อยู่ห่างไกลมาก จึงจำเป็นต้องเข้าพรรษาก่อนที่จะเดินทางไปถึง

 

และหลังจากออกพรรษาเหล่าภิกษุก็เดินทางต่อ ซึ่งต้องผ่านร้อน ผ่านหนาว ไปตลอดทางทำให้เมื่อเดินทางถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้น จีวรที่ภิกษุห่ม ทั้งขาดทั้งเปื้อน เมื่อพระศาสดาทรงเห็นจึงประทานผ้ากฐินให้แก่ภิกษุทั้ง 30 รูป

 

โดยประเพณี วัดที่จะสามารถรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุจำพรรษาโดยไม่ขาดพรรษาเลยไม่ต่ำกว่า 5 รูป และแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้ปีละ 1 ครั้ง การทอดกฐินเป็นกาลทานตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ การทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน

 

ส่วนการทอดผ้าป่า คือการอุทิศผ้าจีวรโดยไม่เจาะจงให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ผ้าป่าหรือผ้าบังสุกุลจีวร ที่ในสมัยก่อนพระสงฆ์สามารถห่มผ้าบังสุกุลได้เท่านั้นทำให้การหาผ้ามาทำจีวรมีความยากลำบาก จึงต้องหาเศษผ้าที่ทิ้งแล้วหรือผ้าเก่าๆ ตามกองขยะ แม้กระทั่งผ้าห่อศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้ามาทำจีวร และก็เป็นส่วนที่ทำให้เกิดพิธีการทอดผ้าป่านั่นเอง