โควิด-19 กับข้อควรระวังสำหรับผู้สูงอายุชี้ฉีดวัคซีนภูมิขึ้นไม่สูง

19 ต.ค. 2564 | 01:41 น.

หมอธีระเผยข้อควรระวังสำหรับผู้สูงอายุกับโรคโควิด-19 ชี้ฉีดวัคซีนภูมิขึ้นไม่สูงเมื่อเทียบกับคนวัยหนุ่มสาว แนะเปิดประเทศยังต้องระวังตัวอย่างเคร่งครัด

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
19 ตุลาคม 2564
รัสเซียทะลุ 8 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 321,493 คน ตายเพิ่ม 4,592 คน รวมแล้วติดไปรวม 241,832,365 คน เสียชีวิตรวม 4,919,283 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ สหราชอาณาจักร อเมริกา รัสเซีย ตุรกี และอินเดีย
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.44 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 91.74 
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 10,111 คน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก
แต่หากรวม ATK อีก 1,700 คน จะเขยิบเป็นอันดับ 7 ของโลก 
และไม่ว่าจะเป็นแค่ยอดที่รายงานทางการ หรือจะรวม ATK ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

จำนวนเสียชีวิตใหม่เมื่อวานนี้ ไทยแม้จะต่ำกว่าร้อย แต่ยังสูงเป็นอันดับ 14 ของโลก
หมอธีระ ระบุอีกว่า สิ่งที่ควรระมัดระวังสำหรับผู้สูงอายุ
เมื่อวานมีข่าวเรื่องการเสียชีวิตของพล.อ.โคลิน พาเวลล์ อดีต Secretary of State ของอเมริกา ซึ่งได้รับวัคซีนครบโดส แต่เสียชีวิตจากผลแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโควิด-19
เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องย้ำเตือนกันสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทยเราด้วยว่า แม้จะได้รับวัคซีนไปก่อนหน้านี้ แต่ความรู้วิชาการปัจจุบันทำให้เราทราบว่าในผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน หลังฉีดวัคซีนไปอาจมีระดับภูมิคุ้มกันขึ้นไม่สูงนักเมื่อเทียบกับคนวัยหนุ่มสาว นอกจากนี้หากได้รับวัคซีนชนิดที่ประสิทธิภาพไม่สูงนัก หรือได้รับวัคซีนไปล่วงหน้านานๆ ก็อาจทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันน้อยลงตามเวลาที่ผ่านไป

โควิด-19 กับผู้สูงอายุ
ดังนั้นหลังเปิดประเทศเดือนหน้า จึงต้องไม่ประมาท ยังจำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ลูกหลานที่บ้านก็ควรระมัดระวังเวลาไปคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายาย คุณลุงคุณป้า เพราะอาจนำพาเชื้อไปแพร่ให้ท่านได้ จนอาจทำให้ป่วยและเสียชีวิตได้เช่นกัน
ถามว่าจะต้องระมัดระวังตัวกันแจไปอีกนานแค่ไหน คงตอบได้ว่าจนกว่าสถานการณ์ระบาดโดยรวมจะดีขึ้น แต่ไม่ใช่ตอนนี้ที่ในประเทศยังกระจายกันทั่ว ติดกันหลักหมื่นต่อวัน แถมวัคซีนก็ยังไม่ครอบคลุม และยารักษาก็ยังมีจำกัด พร้อมกับความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ

เมื่อใดที่การระบาดลดลงไปมากเหลือหลักร้อย ป่วยน้อย ตายน้อยมากหรือไม่ตายเลย ประชาชนเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงครบโดสครอบคลุมครบถ้วน ยารักษาที่มีประสิทธิภาพมีเพียงพอ เข้าถึงได้ง่าย ราคาไม่แพง เมื่อนั้นจึงจะวางใจได้
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 19 ตุลาคม 64 "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 9,122 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,774,071 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 71 ราย หายป่วย 10,731 ราย กำลังรักษา 105,546 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,651,555 ราย