ฉีดวัคซีนเชื้อตายแล้วเกือบ 50% ของโลกพบโควิดระบาดไม่ต่างจากเทคโนโลยีอื่น

18 ต.ค. 2564 | 02:36 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลฉีดวัคซีนเชื้อตายไปแล้วเกือบ 50% ของโลก ระบุส่วนใหญ่พบโควิด-19 ระบาดไม่แตกต่างจากประเทศที่ฉีดเทคโนโลยีอื่น

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
วัคซีนเชื้อตาย ฉีดไปแล้วกว่า 110 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนวัคซีนที่ฉีดทั้งหมดในโลก นับจากมีการระบาดของโควิดในเดือนธันวาคม 2562 จนถึงวันนี้ มีการระบาดของโควิดไปแล้วราว 200 ประเทศทั่วโลก และมีวัคซีนเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน อาทิเช่น วัคซีนเชื้อตาย วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นตัวนำ วัคซีน mRNA และวัคซีนโปรตีนซับยูนิต เป็นต้น
โดยที่วัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย จะมีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัย เพราะมีประสบการณ์ใช้ในการผลิตวัคซีนเดิมในอดีตมานานแล้ว เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโปลิโอ และวัคซีนป้องกันตับอักเสบ เป็นต้น
แต่ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย มีระดับภูมิคุ้มกันชนิด NAb น้อยกว่าวัคซีนเทคโนโลยี mRNA และระดับภูมิคุ้มกันจะตกลงเร็วกว่า โดยเฉพาะเมื่อเจอกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา
อย่างไรก็ตาม จากองค์ความรู้เดิม ประกอบกับการวิจัยทดลองในปัจจุบัน พบว่าระดับภูมิคุ้มกัน (NAb) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระดับภูมิคุ้มกันทั้งหมด (Immune system)
ระดับ NAb เป็นส่วนย่อย ซึ่งจะอยู่ไม่นานเท่ากับส่วนอื่น เช่น B-cell และ T-cell

โดยพบว่าวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย แม้จะมีระดับ NAb ขึ้นน้อยกว่า และตกลงเร็วกว่า แต่ก็สามารถกระตุ้น บีและทีเซลล์ได้ดี ไม่ด้อยกว่า mRNA
ส่วนสาเหตุที่เทคโนโลยีเชื้อตายกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด NAb น้อยกว่า เนื่องจากต้องแบ่งกำลังไปสร้างภูมิคุ้มกันต่ออีกหลายส่วนของไวรัส  ในขณะที่วัคซีน mRNA จะมุ่งสร้างเฉพาะต่อส่วนหนามเท่านั้น
ในอนาคต ถ้าไวรัสมีการกลายพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ส่วนหนาม จะทำให้วัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย มีโอกาสที่พอจะรับมือได้มากกว่า เพราะยังคงมีภูมิคุ้มกันต่อส่วนอื่นๆของไวรัส

ฉีดวัคซีนเชื้อตายแล้วกว่า 50% ของโลก
ในขณะนี้ทั่วโลก ฉีดวัคซีนไปกว่า 7,000 ล้านโดส โดยเกือบครึ่งหนึ่งคือ 3.4 พันล้านโดส เป็นวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย ทั้งของ Sinovac (SV) และ Sinopharm (SP)
โดยวัคซีนที่มีการฉีดมากที่สุดในโลก 8 ลำดับแรก ได้แก่
1.Sinovac 1.8 พันล้านโดส
2.Pfizer 1.6 พันล้านโดส
3.Sinopharm 1.6 พันล้านโดส
4.AstraZeneca 1.5 พันล้านโดส 
5.Moderna 0.4 พันล้าน
6-8.Sputnik V , JNJ , Bharat อย่างละน้อยกว่า 0.4 พันล้านโดส

โดยประเทศที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายสูงสุดห้าอันดับแรกได้แก่
1.อินโดนิเซีย 200 ล้านโดส
2.บราซิล 100 ล้านโดส
3.ปากีสถาน 70 ล้านโดส
4.ตุรกี 60 ล้านโดส
5.อิหร่าน 40 ล้านโดส
ซึ่งประเทศที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายดังกล่าว ก็มีความรุนแรงของโควิดใกล้เคียงหรือไม่แตกต่างกับประเทศที่ฉีดวัคซีนเทคโนโลยีอื่น
และในขณะนี้ งานวิจัยในประเทศไทยพบว่า การฉีดวัคซีน Sinovac สองเข็ม จัดเป็นสูตรพื้นฐานที่ดีมาก เพราะเมื่อฉีดกระตุ้นเข็มสามด้วย AstraZeneca หรือ Pfizer ก็มีภูมิคุ้มกันที่ขึ้นสูงมากทีเดียว
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันมีการฉีดสะสมแล้วทั้งหมด 65,202,741 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 37,446,713 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 25,825,658 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 1,930,827 ราย
ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในไทยวันที่ 18 ตุลาคม 64 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานพบ ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 10,111 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,070 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 41 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,764,949 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 63 ราย หายป่วย 10,612 ราย กำลังรักษา 107,226 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,640,824 ราย