ฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็ม 3 หมออนุตตรสรุป 8 แนวทางครบ จบที่นี่

19 ต.ค. 2564 | 01:10 น.

หมออนุตตรเปิดข้อมูล 8 แนวทางการฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็ม 3 แนะเร่งฉีด 2 เข็มให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มโดยเร็ว ชี้ฉีดเชื้อตาย 2 เข็มต้องกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า หรือmRNA

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า   
ไม่ได้เขียนเรื่องวัคซีนมานาน กลัวดราม่า วันนี้ขอสรุปความเห็นส่วนตัวที่นำมาจากข้อมูลล่าสุดเรื่องการใช้วัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งมีการใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันแล้วในหลายประเทศ  รวมทั้งประเทศไทยมีการกระตุ้นให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าและประชาชนทั่วไปที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย และกำลังมีแผนในกลุ่มอื่น ๆ เพิ่มเติม มาให้อ่านกันตามนี้
1. ควรเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมายโดยเร็วเป็นจุดมุ่งหมายแรก การพิจารณาให้วัคซีนเข็มกระตุ้นจึงควรเป็นไปตามความเหมาะสมของปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ โดยถือเป็นจุดมุ่งหมายอันดับรองจากการมุ่งเน้นให้ประชาชนทั่วไปได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม
2. ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ ได้แก่ วัคซีนของบริษัทซิโนแวค 2 เข็มหรือวัคซีนของบริษัทซิโนฟาร์ม 2 เข็ม มีหลักฐานแสดงว่าภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาลดลงมากจนอาจไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้หลัง 3 เดือน จึงควรพิจารณาให้ได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์ ได้แก่ วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม เอ็มอาร์เอนเอ (mRNA) ได้แก่วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์หรือวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา ซึ่งพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ดี โดยพิจารณาให้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 หลังจากได้รับเข็มที่ 2 มานานเกินกว่า 3 เดือน

3. ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์หรือวัคซีนชนิด mRNA ครบ ได้แก่ วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม หรือวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ 2 เข็ม หรือวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา 2 เข็ม มีหลักฐานแสดงว่าภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาลดลงหลัง 6 เดือน จึงควรพิจารณาเป็นทางเลือกให้ได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนชนิด mRNA ได้แก่วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา กับกลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง  โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคไตเรื้อรัง  โรคหลอดเลือดสมอง  โรคอ้วน  โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซี่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 (Covid-19) ที่รุนแรง เกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้สูง โดยพิจารณาให้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 หลังจากได้รับเข็มที่ 2 มานานเกินกว่า 6 เดือน เมื่อมีปริมาณวัคซีนชนิด mRNA เพียงพอ หรือเมื่อมีวัคซีน mRNA ทางเลือก

การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3
4. ผู้ที่ได้รับวัคซีนสูตรไขว้ ได้แก่ วัคซีนชนิดเชื้อตายและวัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์ ยังไม่มีข้อมูลการติดตามภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาในระยะยาว จึงควรรอผลการวิจัยระดับภูมิคุ้มกันของวัคซีนสูตรดังกล่าวต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาในระยะยาวก่อนการพิจารณาให้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 

5. ความปลอดภัยของการรับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เนื่องจากข้อมูลการใช้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่ 3 ในปัจจุบันมีการศึกษาในประชากรจำนวนไม่มากและเป็นการศึกษาระยะสั้น รายงานความปลอดภัยเบื้องต้น ไม่พบความแตกต่างระหว่างอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 กับอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนเข็มที่ 2 คำแนะนำในการใช้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 จึงพิจารณาจากข้อมูลผลดีผลเสียเบื้องต้นเท่านั้น การยอมรับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 จึงเป็นสิทธิของผู้รับวัคซีน โดยพิจารณาถึงผลดีของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตา กับอาการไม่พึงประสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการรับวัคซีนต่างชนิด
6. ในปัจจุบันยังไม่แนะนำให้รับวัคซีนโควิด 19 มากกว่า 3 เข็ม เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของการรับวัคซีนมากกว่า 3 เข็ม ซึ่งอาจไม่มีประโยชน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3
7. ไม่แนะนำให้ตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อก่อโรคโควิด 19 (SARS-CoV-2) เพื่อประเมินประสิทธิผลในการป้องกันโควิด 19 ของวัคซีนที่ได้รับ หรือใช้ในการพิจารณารับวัคซีนโควิด 19 กระตุ้นเข็มที่ 3 เนื่องจากยังไม่มีข้อตกลงที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าระดับของภูมิคุ้มกันที่สัมพันธ์กับประสิทธิผลของวัคซีน ควรจะใช้การตรวจแบบใด ตรวจเมื่อใดหลังรับวัคซีนครบ และต้องมีระดับเท่าใดจึงจะช่วยทำนายประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตา รวมทั้งการตรวจดังกล่าว ไม่สามารถประเมินการป้องกันโรคโดยเซลล์ (cellular immunity) ของวัคซีน และอาจสร้างความเข้าใจผิดในการป้องกันตัวจากการติดเชื้ออีกด้วย จึงควรทำในการวิจัยเท่านั้น
8. ควรให้การสนับสนุนการวิจัยและผลิตวัคซีนภายในประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อเร่งกระบวนการให้มีการผลิตใช้ในประเทศโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับโอกาสและทางเลือกในการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 เพิ่มขึ้น
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-17 ต.ค. 64 มีการฉีดสะสมจำนวน 65,677,794 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 37,684,728 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 26,042,573 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 1,950,493 ราย