8 ข้อควรระวังใช้ชุดตรวจโควิด ATK เช็คที่นี่

17 ก.ย. 2564 | 07:13 น.

8 ข้อที่ควรระมัดระวังในการใช้ชุดตรวจโควิด ATK มีอะไรบ้าง ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมนำมาฝากเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจโควิดด้วยตนเอง

ช่วงนี้หลายคนหาซื้อชุดตรวจแบบ ATK มาตรวจหาโควิดเบื้องต้นให้ตัวเอง ซึ่งอาจได้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้ ชุดตรวจ ATK ตรวจแล้วรู้ผลเร็วกว่าการตรวจด้วยวิธี Rt-PCR ที่จะต้องรอผลแล็ป 1-2 วัน

ขณะที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจกชุดตรวจ ATK ฟรี กระจาย 8.5 ล้านชิ้น ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษา (สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ)

 โดยมีการแจกคนละ 2 ชุด ห่างกัน 5 วัน ดีเดย์ 16 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา

แน่นอนว่าการใช้ชุดตรวจ ATK ควรใช้อย่างระมัดระวัง เพราะชุดตรวจอาจได้ผลบวกปลอม อาจมาจากการปนเปื้อน ติดเชื้อ หรือขั้นตอนการตรวจไม่ถูกวิธี 

บางส่วนอาจมีผลลบปลอม ตรวจเป็นลบที่อาจมีเชื้อโควิดน้อยจนตรวจไม่พบเมื่อผลเป็นลบปลอม ก็ไปใช้ชีวิตปกติ ก็ทำให้คนอื่นๆ เสี่ยงที่จะติดเชื้อไปด้วย

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือควรเลือกใช้ชุดตรวจ ATK ที่ได้มาตรฐานที่มี อย.รับรอง หรือร้านขายยาที่มีเภสัชกรแนะนำ เพราะชุดตรวจแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกัน

เช่น เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก โพรงหลังจมูก หรือน้ำลายก่อนใช้จะต้องอ่านคำแนะนำที่ให้มาในชุดตรวจให้ละเอียด และทิ้งชุดตรวจหลังจากใช้งานอย่างถูกวิธีด้วย

8 ข้อควรระวังการใช้ ATK 

1.เก็บชุดทดสอบในอุณหภูมิที่ชุดทดสอบกำหนด ก่อนนำมาใช้งาน

2.ตรวจสอบวันหมดอายุของชุดทดสอบ

3.อย่าเปิดซองที่บรรจุตลับทดสอบ จนกว่าจะเริ่มทำการทดสอบ

4.เตรียมพื้นที่ในการทดสอบให้สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน

5.อ่านผลตามเวลาที่ชุด ทดสอบกำหนด (การอ่านผลเร็วหรือช้าเกินไป อาจเกิดความผิดพลาดได้)

6.ไม่นำอุปกรณ์หรือตลับทดสอบอันเดิม มาใช้ซ้ำ

7.นำชุดทดสอบที่ทดสอบแล้ว พร้อมอุปกรณ์จากการใช้งาน แช่น้ำยาฆ่าเชื้อ แยกใส่ถุง ปิดให้มิดชิดและทิ้งให้เหมาะสม

8.ล้างมือให้สะอาด ภายหลังทำการทดสอบ

ข้อแนะนำกรณีการใช้ ATKทดสอบด้วยตนเอง

1.ตรวจสอบประเภทของตัวอย่างที่ใช้ทดสอบกับชุดทดสอบ เช่น nasal (โพรงจมูก) nasapharyngeal (โพรงหลังจมูก) oropharyngeal (ช่องปากและล้ำคอ) หรือน้ำลาย

2.ศึกษาขั้นตอนวิธีการทดสอบ การแปลผล จากเอกสารกำกับชุดทดสอบ

3.การเก็บตัวอย่างที่ไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ อาจทำให้ผลการทดสอบผิดพลาดได้