VISTEC ตีโจทย์ใหญ่ ไทยแลนด์ 4.0 ขาดกลุ่มคนหัวกะทิ ขับเคลื่อนนวัตกรรม

19 ส.ค. 2564 | 10:10 น.

ดร.จำรัส สถาบัน VISTEC ตีโจทย์ใหญ่ ยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 เป้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยนวัตกรรม และ เทคโนโลยี มองโอกาส เทียบเกาหลีใต้ ระบุ ไทยยังห่างชั้น แนะเตรียมความพร้อม จำนวน - คุณภาพ พัฒนาบุคลากรระดับหัวกะทิ ต่อยอดโซลูชั่น

ศ.ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่ม ปตท. และพันธมิตร ได้ฉายภาพ ถึงนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของโลก ภายในงาน Virtual Seminar : Thailand Next Innovation Beyond Business โอกาสนวัตกรรมเศรษฐกิจ ที่จัดขึ้นโดยสื่อเครือเนชั่น  โดยระบุ ว่า ปัจจุบันมี 3 ชาติ คือ จีน สหรัฐอเมริกา และ เกาหลีใต้ เป็นกลุ่มประเทศชั้นนำ ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านโลก พบแต่ละประเทศ มีการลงทุนมหาศาล เพื่อพัฒนานักวิทยาศาสตร์ - วิศวกร ขึ้นมารองรับ และค้นคว้า ผลิตสิ่งใหม่ โดยเฉพาะ เกาหลีใต้ ซึ่งส่งผล ให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ (จีดีพี) กระโดด เติบโตขึ้นมานับ 200 เท่า จากอดีต อยู่ในสถานะ 'ประเทศยากจน'

 

ส่วนสหรัฐอเมริกา และจีน แข่งกันเป็นเบอร์ 1 ในการพัฒนา 'AI' และ ' Robots'  และหากถามถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ขณะนี้ ไม่มีใคร ไม่รู้จัก Baidu (ไป่ตู้) ,Alibaba (อาลีบาบา) และ Tencent (เทนเซ็นต์) เทียบชั้น Google (กูเกิ้ล) 

 

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ภายใต้คำนิยาม “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” หรือ ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 เทียบเคียงแค่ประเทศ ซึ่งมีประชากรใกล้เคียงกัน อย่างประเทศมาเลเซียนั้น ในแง่งานวิจัยด้านเทคโนโลยี - นวัตกรรมต่างๆ  ต้องยอมรับว่า เรายังเป็นรอง 

 

แต่อย่างไรก็ตาม “โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “อีอีซี” ของไทย ซึ่งถูกริเริ่มขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยต้องการเน้นอุตสาหกรรมชั้นสูง ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ก่อให้เกิด การพัฒนา “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (Eastern Economic Corridor of Innovation) หรือ อีอีซีไอ ถือเป็นพื้นที่ทดลอง - ทดสอบ - การสาธิต เทคโนโลยีนำร่อง ที่สำคัญของไทย อีกทั้งจะช่วยปรับแปลงเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศมาสู่การใช้ประโยชน์จริงในอนาคต

ทั้งนี้ VISTEC เอง พยายามพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ ดิจิทัล , พลังงาน ,การแพทย์ และ ไบโอเทคโนโลยี เช่น นวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะอินทรีย์ ผ่านกระบวนการชีววิทยาสังเคราะห์ , การเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากครัวเรือน รวมถึง โรงงานต้นแบบ สำหรับผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน อายุใช้งานนาน 15 ปี ขณะ ความสำเร็จล่าสุด คือ การพัฒนา ชุดตรวจ COVID-19 RNA DETECTION ที่มีประสิทธิภาพสูง ร่วมกับ รพ.ศิริราช  ซึ่งทั้งหมด มาจากกระบวนการ ที่สถาบัน VISTEC บ่มเพาะ สร้างองค์ความรู้ โปรดักส์ ควบคู่กับการสร้างคน ที่จะมีบทบาทสำคัญ ในเศรษฐกิจนวัตกรรมยุคอนาคต
 

 

ศ.ดร. จำรัส ระบุว่า โจทย์สำคัญของประเทศไทยนั้น คือ การต้องเร่งสร้างบุคลากรในด้านนี้อย่างจริงจัง เพราะปัจจุบัน นอกจากไม่มีความพร้อมแล้ว ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดี เพื่อรองรับยุคใหม่ด้วย ซึ่งปัญหา ไม่ใช่เกิดจากการขาดแคลนตัวบุคคล แต่มีต้นตอมาจาก ไม่มีองค์ความรู้ใหม่ๆ มาช่วยพัฒนานั่นเอง ทำให้เราขาด ทั้งแง่จำนวน และ คุณภาพ ประเมินอย่างต่ำ เพื่อให้ไทยถึงเป้าหมาย ' เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม'  จำเป็นต้องผลิตนักวิทยาศาสตร์ หรือ วิศวกรในประเทศ ให้ได้สัดส่วนราว 10-20% ของเกาหลีใต้ 

 

" ไทยต้องการสร้าง หัวรถจักร ที่มีความรู้จริง และมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ , วิศวกร เพื่อเป็นหลักในการสร้างโซลูชั่น หรือ แพลตฟอร์มด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ใช้ผลักดันเศรษฐกิจยุคหน้า ไม่ใช่แค่เขียนโปรแกรม แต่ต้องพัฒนา AI ไปใช้ได้จริง  โดยสถาบันบ่มเพาะบุคลากรด้านนี้ ก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสมองกลให้ประเทศ " 

ทั้งนี้ สถาบัน VISTEC เป็นสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ 4 สำนักวิชาในระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล, สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน, สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และ วิศวกรรมชีวโมเลกุล (สนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทยฯ) และ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (สนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์ฯ) โดยมุ่งเน้นการสร้างสรรค์งานวิจัยชั้นสูงที่สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ตอบโจทย์การพัฒนา และผลิตผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นนักวิจัยและสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป