ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ขวางจัดซื้อชุดตรวจ ATK หรือไม่

13 ส.ค. 2564 | 09:20 น.

ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าภาครัฐ บีบให้การประมูลจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น ของอภ. ได้สินค้าคุณภาพต่ำ ไม่ตรงความต้องการของเจ้าของโครงการอย่างสปสช.หรือไม่ กรมบัญชีกลางมีคำชี้แจง

ปัญหาการจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้การดำเนินการขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) แต่ไม่เป็นที่ยอมรับทั้ง สปสช.และชมรมแพทย์ชนบท เพราะเห็นว่า ชุดตรวจ ATK ที่ชนะการประมูลนั้น คุณภาพต่ำ แม้จะผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) ของไทย แต่ไม่ได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)

 

แม้ล่าสุด อย.จะจับ อภ. ตั้งโต๊ะแถลงปมปัญหาถึงการจัดหา “ชุดตรวจ ATK” ให้สปสช.ว่า จะไม่มีการล้มประมูล โดยยืนยันว่า เปิดประมูลถูกต้องตามกฎของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมยืนยันว่า “ชุดตรวจ ATK” ของออสท์แลนด์ แคปปิตอลผู้ชนะการประมูลผ่านเกณฑ์ อย.และมาตราฐานยุโรป

 

เกิดการตั้งคำถามมาที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐว่า ขัดวางต่อระบบการจัดหาชุดตรวจ ATK หรือไม่ เพราะเมื่อมีการเปิดประมูลราคา หลักเกณฑ์จะต้องพิจารณารายที่เสนอราคาให้รัฐต่ำสุด เพื่อประหยัดงบประมาณให้กับรัฐ

ต่อประเด็นดังกล่าว กรมบัญชีกลางยืนยันว่า  กรมบัญชีกลางได้ปลดล็อคแนวทางการจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ ให้รวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกัน ควบคุม รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดรอบแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 แล้ว ภายใต้ประกาศ กค (กวจ) 0405.2/ว 115 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563  เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวเป็นไปด้วยความคล่องตัวและทันต่อสถานการณ์

 

ทั้งนี้หลังจากรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร อันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

ดังนั้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กระทรวงการคลัง ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา หรืออุปกรณ์การแพทย์ หรือการจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุที่ใช้ในการป้องกัน ควบคุมหรือรักษา ดังนี้

 

1 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด-19 ในแต่ละครั้ง ทุกวงเงิน ถือเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน จึงยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่เกี่ยวข้อง

 

โดยให้เจ้าหน้าที่เจรจาตกลงราคากับผู้ประกอบการที่มีอาชีพขายหรือรับจ้างนั้นโดยตรง และให้ดำเนินการซื้อหรือจ้างไปก่อน  แล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ และเมื่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐให้ความเห็นชอบแล้ว  ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นหลักฐานการตรวจรับโดยอนุโลม

 

2.การดำเนินการตามข้อ 1 หากมีความจำเป็นจะต้องจ่ายเงินค่าพัสดุล่วงหน้าให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ให้จ่ายได้ตามเงื่อนไขที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างกำหนด และยกเว้นการวางหลักประกันการรับเงินล่วงหน้า โดยแนวทางดังกล่าวให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน

ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ขวางจัดซื้อชุดตรวจ ATK หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา กรมบัญชีกลางมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0433.2/ว120 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2563 แจ้งเวียนหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้ารัฐวิสาหกิจ และหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อทราบและแจ้งให้หน่วยงานในสังกัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป เรื่อง แนวทางการดำเนินการกรณีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด 19 ในส่วนของการอ้างอิงราคากลาง หน่วยงานของรัฐสามารถใช้วงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละครั้งเป็นราคากลาง  ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์ตามนัยมาตรา 4 แห่งพระราบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560