แผนฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์-โมเดอร์นา" ยังป่วน!

30 ก.ค. 2564 | 03:15 น.

แผนฉีดวัคซีนยังป่วน สธ. เร่งกระจาย 15 ล้านโดสภายในเดือนส.ค. ลุ้นผู้ผลิตส่งมอบตามกำหนด ขณะที่รพ.เอกชน ยังเคลียร์โควตา “โมเดอร์นา” ไม่ลงตัว หลังได้รับแค่ 3.9 ล้านโดส ส่งผลลูกค้าถูกเทกว่าครึ่ง

เป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับคนไทย 100 ล้านโดสภายในปี 2564 ยังเหลือระยะเวลาอีก 5 เดือน จากปัจจุบัน (29 ก.ค. 64) ที่มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 16.59 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 12.85 ล้านราย เข็มที่ 2 จำนวน 3.73 ล้านราย

 

ดังนั้นจึงยังต้องการวัคซีนอีกกว่า 83 ล้านโดส ขณะที่แผนการจัดสรรในระหว่างวันที่ 19 ก.ค.-31 ส.ค. นี้ จะมีวัคซีนหลักที่จัดสรรออกไปเกือบ 15 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 8 ล้านโดส ซิโนแวค 5 ล้านโดส และไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส

 

โดยการประชุมทางไกล (Web Conference) ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่าที่ประชุมสั่งการให้มีการจัดสรรวัคซีนลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ในเดือนก.ค และส.ค. นี้

แผนฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์-โมเดอร์นา" ยังป่วน!

เพื่อฉีดให้กับกลุ่มประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ป่วยรุนแรงและเสียชีวิต, ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

 

รวมทั้งให้ใช้แนวทางการฉีดวัคซีนสูตรผสม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น โดยสูตรที่ใช้ในพื้นที่ควบคุมสูง 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส

 

หากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง สตรีมีครรภ์ให้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม โดยเข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 12 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มเป้าหมายอื่น อาจใช้สูตรฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือสูตรซิโนแวคเข็ม 1 และแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 ก็ได้ ขึ้นกับชนิดของวัคซีนและปริมาณที่มี

 

หากเป็นจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่ควบคุมสูง ให้ทุกกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 โดยให้ฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่จะได้รับ

 

ขณะเดียวกันให้สำรวจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิดที่มีความประสงค์ฉีดวัคซีนบู๊สเตอร์เข็มที่ 3 โดยต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มอย่างน้อย 4 สัปดาห์และเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแทพย์ในระบบ MOPH IC ให้จัดทำรายงานนำเสนอเข้ามาภายในวันที่ 30 ก.ค. นี้

แผนฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์-โมเดอร์นา" ยังป่วน!

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ซึ่งได้รับการบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวน 1.54 ล้านโดส และเดินทางมาถึงประเทศไทยในวันที่ 30 ก.ค นั้น หลังการส่งตรวจรับรองคุณภาพ จะจัดส่งกระจายถึงพื้นที่ในวันที่ 5-10 ส.ค. 2564

 

พร้อมจัดอบรมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ผ่านทางออนไลน์ในวันที่ 30 ก.ค. ให้ทุกจังหวัด โดยให้ทุกจังหวัดสำรวจและรายงานแผนวัคซีนคงคลังประจำวันภายในเวลา 16.00 น. ต่อกรมควบคุมโรค เพื่อนำมาพิจารณาในการจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัดต่อไป

 

ขณะที่การจัดสรรวัคซีนทางเลือก โมเดอร์นา” ซึ่งพบว่าหลังจากที่องค์การเภสัชกรรมได้เซ็นสัญญาสั่งซื้อและชำระเงินให้กับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนในประเทศไทยไปแล้วนั้น คาดว่าจะได้รับวัคซีนภายในไตรมาส 4 นี้ จำนวน 5 ล้านโดส แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

แผนฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์-โมเดอร์นา" ยังป่วน!

ได้แก่ โรงพยาบาลเอกชน 3.9 ล้านโดส และโรงพยาบาลรัฐ 1.1 ล้านโดส แต่พบว่า จำนวนผู้ลงทะเบียนจองวัคซีนโมเดอร์นาผ่านโรงพยาบาลเอกชนมีมากถึง 9.23 ล้านโดส ทำให้มีผู้ที่พลาดไม่ได้รับสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนโมเดอร์นามากกว่า 50%

 

เบื้องต้นพบว่ามีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง เริ่มประกาศให้ผู้ที่ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน ติดต่อรับเงินมัดจำคืน โดยโรงพยาบาลเอกชนย่านวิภาวดี-รังสิต กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดลำดับผู้ที่จองวัคซีนและชำระเงินเข้ามาก่อนหลัง เพื่อให้ได้จำนวนตามที่ได้รับโควตามา

 

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกคนเข้าใจว่าคนไทยต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ แต่เมื่อได้รับการจัดสรรโควตามาจำกัดจำนวน ก็ต้องยอมรับและทำความเข้าใจกับลูกค้าที่จองเข้ามา

แผนฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์-โมเดอร์นา" ยังป่วน!

“เดิมมีผู้แสดงความจำนงเข้ามาระดับหนึ่ง แต่เมื่อหน่วยงานขยายระยะเวลาในการให้ลงทะเบียนจองวัคซีนจึงมีผู้เข้ามาลงทะเบียนเพิ่มขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าทุกโรงพยาบาลก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เมื่อมีวัคซีนจำนวนจำกัด ก็ต้องจัดสรรกันไป โรงพยาบาลจึงได้รับโควตาค่อนข้างน้อย”

 

อย่างไรก็ดีเบื้องต้นพบว่าโรงพยาบาลที่มียอดจองซื้อต่ำกว่าหลักหมื่นจะได้รับการจัดสรรเต็มจำนวน ขณะที่โรงพยาบาลที่จองหลักหมื่นขึ้นไปจะได้รับการจัดสรรในสัดส่วนตั้งแต่ 30-60% ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งได้รับจำนวนต่ำกว่าที่จองไว้

 

ขณะที่โรงพยาบาลที่มีเครือข่ายต่างยืนยันว่า มีวัคซีนจัดสรรได้เพียงพอกับจำนวนลูกค้าที่จองและชำระเงินไว้ เช่น เครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เครือโรงพยาบาลธนบุรี เป็นต้น