วันอาสาฬหบูชา 2564 เปิดประวัติ-ความสำคัญ กิจกรรมของวันอาสาฬหบูชา

23 ก.ค. 2564 | 21:30 น.

อาสาฬบูชา 2564 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก-มีสาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา-วันแรกที่มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย

วันอาสาฬหบูชา ในปี 2564 นี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม (ขึ้น 15 คํ่า เดือน 8) โดย กรมการศาสนาเชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาวไทย "อยู่บ้าน สร้างบุญ" ลด ละ เลิก อบายมุข ถวายเป็นพุทธบูชา เสริมสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว ประเทศชาติ และร่วมสืบสานวัฒนธรรมวิถีใหม่ด้วยรูปแบบธรรมะออนไลน์

ทำความรู้จักกับวันอาสาฬหบูชา 

อาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหนให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

ประวัติความเป็นมา 

ก่อนพุทธศักราช 45 ปี พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 นั้น เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงจบลง พระโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระโกณฑัญญะ จึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา

ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้บรรลุธรรมและได้อุปสมบทตามลำดับ ทำให้วันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

สำหรับใจความสำคัญของการปฐมเทศนามีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ

ประการแรก คือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตอย่างหนึ่งอย่างใด คือ

  • การหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่าเป็นการหลงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค
  • การสร้างความลำบากแก่ตน ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค       

ดังนั้น เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญาโดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรค มีองค์ 8 ได้แก่

  1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
  2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
  3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
  4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
  5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
  6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
  7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
  8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

ประการที่สอง คือ อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

  • ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า คืออะไร ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้กับปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
  • สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ
  • นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลก ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
  •  มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น 

การถือปฏิบัติวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย

พิธีวันอาสาฬหบูชาเริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช 2501 โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา

ได้เสนอคณะสังฆมนตรีให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้นอีกวันหนึ่ง คือ วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีได้ลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมา

โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 และในวันเดียวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน

กล่าวคือ ก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา 1 สัปดาห์ให้เจ้าอาวาสแจ้งแก่พระภิกษุสามเณรตลอดจนศิษย์วัด คนวัดช่วยกันปัดกวาด ปูลาดอาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะให้ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถตลอดวัน

ทั้งเวลาเช้าและเวลาบ่ายให้มีการฟังธรรมตามปกติ เวลาค่ำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ จุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ยืนประนมมือสำรวมจิตโดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธานนำกล่าวคำบูชาจบแล้วทำประทักษิณ ครั้นแล้วให้ภิกษุสามเณรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัยทำวัตรค่ำแล้วสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกาทำวัตรค่ำ

ต่อจากนั้น ให้พระสังฆเถระแสดงพระธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตรแล้วให้พระภิกษุสามเณรสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตรทำนองสรภัญญะเพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชนจบแล้วให้เป็นโอกาสของพุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัยกุศล มีสวดมนต์สนทนาธรรม บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น ตามควรแก่อัธยาศัยให้ใช้เวลาทำพิธีอาสาฬหบูชาไม่เกิน เวลา 24.00 น. และได้มีการทำพิธีอาสาฬหบูชาอย่างกว้างขวาง นับแต่นั้นมาทางราชการได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการชักธงชาติ ถวายเป็นพุทธบูชาในวันนี้ด้วย

เมื่อวันอาสาฬหบูชาซึ่งตรงในวันเดียวกันได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบปี คือ เวียนมาบรรจบในวันเพ็ญอาสาฬหบูชาเดือน 8 ของไทยเรา ชาวพุทธทั่วโลกจึงประกอบพิธีสักการบูชา การประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชาแบ่งออกเป็น 3 พิธีคือ 

  1. พิธีหลวง (พระราชพิธี) 
  2. พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป) 
  3. พิธีของพระสงฆ์ (คือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้) 

การประกอบพิธีและบทสวดมนต์ในวันอาสาฬหบูชาก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา 

กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา

โดยทั่วไปช่วงเช้าพุทธศาสนิกชนจะนิยมทำบุญ ตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล และสวดมนต์ร่วมกัน ในตอนค่ำวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศจะมีการจัดพิธีสวดมนต์ และเวียนเทียนร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวพุทธเพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างจิตใจให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข

ที่มา: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ , ธรรมะไทย