กรมควบคุมมลพิษ แจง ขนย้ายสารสไตรีน รง.หมิงตี้ ดำเนินการแล้ว เกือบ 50%

13 ก.ค. 2564 | 09:37 น.

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ติดตามการกำจัดของเสียอันตราย กรณีเหตุเพลิงไหม้ บริษัท หมิงตี้ สมุทรปราการ เผยขนย้ายสารสไตรีนตกค้างแล้ว 360 ตัน จาก 1,000 ตัน ส่งกำจัดที่บริษัท อัคคีปราการ คาด 7-9 วัน จึงจะดำเนินการขนย้ายหมด

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สารสไตรีนที่หลงเหลือจากเหตุเพลิงไหม้ บริษัท หมิงตี้ จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ คาดว่ามีประมาณ 1,000 ตัน ขณะนี้ ได้ขนย้ายไปแล้วประมาณ 360 ตัน คาดว่าจะใช้เวลาในการขนย้ายอีก 7-9 วัน และบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) สามารถเผาทำลายได้ชั่วโมงละ 1 ตัน จะใช้เวลาประมาณ 40-50 วัน คพ.จะติดตามการขนย้ายและการเผาทำลายต่อไป ในส่วนของคุณภาพอากาศบริเวณใกล้เคียงบริษัท หมิงตี้ จำกัด ขณะนี้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว 

สำหรับการนำสารสไตรีน ที่เหลือจากกรณีเหตุเพลิงไหม้ บริษัท หมิงตี้มากำจัดทำลายที่บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) จังหวัดสมุทรปราการ ได้มีการตรวจติดตามการเผาทำลาย ซี่งพบว่า กระบวนการเผาทำลายของเสียอันตรายจะต้องควบคุมอุณหภูมิ และระยะเวลาของไอของเสียที่เกิดจากการเผาทำลาย ให้อยู่ภายในเตาให้นานเพียงพอที่จะเผาไหม้หรือเผาทำลายได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยระบบการเผาไหม้แบบ 2 ห้องเผา ประกอบด้วย 

  1. ส่วนเผาไหม้ที่หนึ่ง เตาเผาแบบหมุน (Rotary Kiln) ออกแบบตามข้อกำหนดของ US.EPA. โดยทำการเผาของเสียอันตรายที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส
  2. ส่วนเผาไหม้ที่สอง เตาเผาแบบแนวตั้ง (Secondary Combustion Chamber: SCR) ก๊าซที่เกิดขึ้นจากเตาเผาแบบหมุนจะเข้าสู่บริเวณเผาไหม้ส่วนที่สอง ซึ่งเป็นบริเวณที่การเผาไหม้จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ด้วยอุณหภูมิ 1,000 ถึง 1,200 องศาเซลเซียส เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเผาไหม้ก๊าซเสีย สุดท้ายปล่อยทางปล่องเป็นไอน้ำ ไม่เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมีการวัดค่าอากาศปากปล่องผ่านระบบศูนย์ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ

กรมควบคุมมลพิษ แจง ขนย้ายสารสไตรีน รง.หมิงตี้ ดำเนินการแล้ว เกือบ 50%

ภายในห้องระบบปฏิบัติการ มีระบบควบคุมมลพิษ ซึ่งประกอบด้วย 1.ระบบป้องกันการเกิดสารไดออกซินในเถ้าหนัก (Bottom ash cooling system) 2.หอลดอุณหภูมิ (Partial Quench Tower) 3.ระบบฉีดปูนขาวและถ่านกัมมันต์ (Dry Lime & Activated Carbon Injection System) 4.ระบบถุงกรอง (Bag Filter House)) 5. ระบบทำความชื้นเถ้าเบา (Fly ash moisturizer)  6. ระบบกำจัดสารประกอบไนโตรเจน (Selective Catalytic Reduction) 7. ระบบการลดก๊าซที่มีกลิ่นโดยการดูดซับ (Adsorption) และ 8. ระบบลดไอกรดด้วยการดูดซึม (Packed Scrubber Tower) ซึ่งมลพิษทั้งหมดจะถูกกำจัด เหลือแต่ไอน้ำที่ปล่อยออกจากปล่องสู่สิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ ทางโรงงานยังมีระบบการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมแบบต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring System: CEMS) และส่งข้อมูลออนไลน์ไปยังนิคมอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรม