"Rapid Antibody Test" หมอธีระวัฒน์ชี้ไม่ได้ผล 100% แต่ประชาชนไม่มีที่พึ่ง

12 ก.ค. 2564 | 01:22 น.

หมอธีระวัฒน์เผยใช้ rapid antibody test ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่ได้ผล 100% แต่ก็พอถูไถไปได้บ้าง ระบุยามนี้ประชาชนไม่มีที่พึ่ง ชี้ทางการต้องมีบรรทัดฐานที่ชัดเจน อะไรที่ไม่ดีต้องไม่อนุมัติให้ผ่าน หรือถ้าเกิดพลาดอนุมัติ หลุดออกไปก็ต้องตามตรวจสอบและยกเลิก

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า 
การตรวจ ด้วยตนเอง ราคาถูก (จริงหรือ?) และไว 
1.เป็นสิ่งที่เรียกร้องและเสนอ ตั้งแต่ มีนาคม-เมษายน 2563 ต่อเนื่องมาตลอด ทั้งนี้เป็นการคัดกรอง ด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้ว (rapid antibody test) หาหลักฐานของการติดเชื้อที่ต้องมีความไวสูงสุดคิอ 100% แต่การที่มีความไวเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะพ่วงผลบวกเกินจริง ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าบวกแยกตัวกักตัวทันที และพิสูจน์ต่อ แต่การตรวจเลือดลักษณะนี้ใช้ไม่ได้กับคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว เพราะอาจจะเห็นเลือดบวกเช่นกัน
ชุดตรวจลักษณะนี้ที่ไวเต็ม 100 ไม่ได้รับการอนุมัติจากทางการ
2.การใช้ชุดตรวจไว หาเศษโปรตีนของเชื้อหรือแอนติเจน (antigen) ต้องเข้าใจว่าความไว ลดหลั่นกันไปอาจจะผิดพลาดตั้งแต่ 4% ถึงมากกว่า 10% นั่นคือ ถึงแม้ว่าได้ผลลบไม่ได้หมายความว่าไม่มีเชื้อ นอกจากนั้นการใช้ตรวจจะได้ผลแตกต่างกันถ้านำไปตรวจในน้ำลาย ช่องโพรงจมูกทางด้านหน้า ที่มีเชื้อน้อยยิ่งพลาดได้ และจะได้รับ ผลลบปลอมมากขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ต่างจากนวัตกรรมที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ของเราพัฒนาขึ้นในการตรวจน้ำลายด้วยเครื่องมือวิเคราะห์โปรตีนขั้นสูง ซึ่งยังไม่ได้เป็นการบริการ และจะใช้ในโครงการนำร่องก่อน

3.ชุดตรวจที่มีในท้องตลาดในขณะนี้ถึงแม้ว่าผ่านการอนุมัติจากทางการมาแล้วก็ตาม จำเป็นที่ต้องมีการติดตามว่าประสิทธิภาพเป็นไปตามจริงเช่นนั้นหรือไม่ 
4.อย่างไรก็ตามสรุปว่า การใช้ ชุดตรวจ ไว ไม่น่าเสียหายเหมือนที่เคยเสนอมาเมื่อ 15 ถึง 16 เดือนที่แล้ว เพราะปัจจุบัน “ประชาชนไม่มีที่พึ่ง”

"Rapid Antibody Test" หมอธีระวัฒน์ชี้ไม่ได้ผล 100% แต่ประชาชนไม่มีที่พึ่ง
5.อย่างน้อยมีการตรวจที่ทำได้ด้วยตนเอง แต่ต้องรู้ข้อจำกัด ว่าไม่ใช่ 100% ก็พอถูไถไปได้บ้าง เพราะเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน และทางการต้องมีบรรทัดฐานที่ชัดเจน อะไรที่ไม่ดีต้องไม่อนุมัติให้ผ่าน หรือถ้าเกิดพลาดอนุมัติ หลุดออกไปก็ต้องตามตรวจสอบและยกเลิก ไม่ใช่ว่าอนุมัติไปแล้วก็แล้วไป จนกว่าจะมีคนร้องเรียนหรือเสียหาย และที่สำคัญ ต้องเข้าใจคำว่า คัดกรองใหม่ ว่าถือความไวเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มีความไวก็หลุดเละแพร่ต่อไปอีกมากมาย

สำหรับประเด็นเรื่องการใช้ "Rapid Antigen Test" นั้น จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า วันนี้ (12 ก.ค 64) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข จะพิจารณาปลดล็อก Rapid Antigen Test ชุดตรวจหาเชื้อ “โควิด-19” (Covid-19)ด้วยตัวเอง 
ก่อนหน้านี้ กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
หาก นายอนุทิน อนุมัติแล้ว จะส่งผลให้ชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน หรือ Rapid Antigen Test ที่ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อเอง และสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป คลีนิก คาดว่าจะมีราคาอยู่ที่ชุดละ 300-400 บาท