คนไทย ต้องการจรรยาบรรณ-จิตสำนึกสื่อมวลชน เสนอข่าวถูกต้อง

06 มิ.ย. 2564 | 00:50 น.

ผลสำรวจสวนดุสิตโพล ระบุ คนไทยรับข่าวสารยุคโควิด เกือบ 80% ต้องการสื่อมีจรรยาบรรณและจิตสำนึก นำเสนอข่าวตามความจริง ไม่บิดเบือน และต้องการแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนของข่าวถึง 78.32% ส่วนสื่อที่คนไทยยังเชื่อถือมากที่สุด คือสื่อทีวี ในขณะที่ติดตามข่าวผ่านโซเชี่ยลมีเดียสูงสุด 74.81%

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ข้อมูลข่าวสารในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,213 คน สำรวจวันที่ 31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2564 พบว่า ส่วนเรื่องของความน่าเชื่อถือของข่าว ประชาชน 78.32% ต้องการข้อมูลข่าวสารที่ระบุที่มามีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน โดยสื่อที่ประชาชนเชื่อมั่นมากที่สุด คือ โทรทัศน์ 85.24%

ส่วนใหญ่ประชาชนติดตามข่าวสารตามความสะดวกของตนเอง 29.43% โดยติดตามผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากที่สุด 74.81% และส่วนใหญ่ 52.24% มองว่าข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันให้ความรู้แง่มุมใหม่ๆ มีการวิเคราะห์เชิงลึก 

คนไทย ต้องการจรรยาบรรณ-จิตสำนึกสื่อมวลชน เสนอข่าวถูกต้อง

นอกจากนี้ิ สิ่งที่อยากฝากบอก “สื่อมวลชน” ณ วันนี้ คือ ควรนำเสนอข่าวตามความเป็นจริง ไม่บิดเบือน 78.71% และมีจรรยาบรรณในหน้าที่ 76.24% 
ประชาชนมองว่าข่าวในปัจจุบันมีการนำเสนอแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีข่าวปลอมมากขึ้นด้วยเช่นกัน บางครั้งข่าวปลอมหรือข่าวที่เป็นกระแสเหล่านั้น เกิดขึ้นเพราะต้องการกลบกระแสข่าวหลักอื่น ๆ “ข้อมูลข่าวสาร” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้นำสังคม ประชาชนจึงมองว่า “สื่อมวลชน” นั้น ควรทำหน้าที่อย่างเหมาะสม และยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพของตนเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันสรรสร้างสังคมไทย 

จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้สื่อมวลชนปรับเปลี่ยนวิธีคิด ตรวจสอบข่าวก่อนนำเสนอ และมีอุดมการณ์ จรรยาบรรณอย่างสูงสุดในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ปัจจุบันการขายข่าวเชิงพาณิชย์ยังมีอยู่มาก และอาจจะมากขึ้นด้วยจาก Hate Speech หรือ ความรุนแรงทางวาจา และ Hate Crime หรืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง การเสนอข่าวบางอย่างควรมีกระบวนการตรวจสอบ กลั่นกรองข่าวสารอย่างจริงจัง ควรหันมาทำข่าว เชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative  Reporting) หรือข่าวในลักษณะ Data Journalism หรือ Data Analytics ให้มากขึ้น 

ถือเป็นศิลปะและความรับผิดชอบของสื่อมวลชนที่มีจรรยาบรรณ ในการนำเสนอข่าว การเลือกจับภาพมุมใดในการนำเสนอ รายงานของแบบไหน จึงจะดึงดูดเรียกกระแส ขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่า เล่าเรื่องแบบไหนที่ทำให้เกิดความแตกแยกน้อยที่สุด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง