รัฐ-เอกชนจุดประกายสตาร์ต อัพ หวังสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย

27 เม.ย. 2559 | 14:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ก.วิทย์ ผนึก 11 หน่วยงานรัฐและเอกชน เดินหน้าแจ้งเกิดสตาร์ต อัพไทย จัดงาน"Startup Thailand 2016" เปิดตัวธุรกิจ Start up กว่า 180 ราย หวังจุดประกายสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ เป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่ากระทรวงวิทย์ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้เป็นตัวแทนรัฐบาลและเจ้าภาพหลักในการจัดงาน "Startup Thailand 2016" ร่วมกับ 11 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนและมุ่งมั่นที่จะนำประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมศูนย์กลางของอาเซียน

ปัจจุบันไทยมีจำนวนนักธุรกิจสตาร์ต อัพประมาณ 1,000 – 2,500 ราย และในปีนี้รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดธุรกิจสตาร์ต อัพเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการขยายฐานเศรษฐกิจและการกระจายตัวให้มากที่สุด โดยธุรกิจสตาร์ต อัพ เหล่านี้จะไม่รวมตัวกันเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้นเพราะรัฐบาลมีนโยบายและวางแผนจะทำเขต Start up หรือ Start up Districtให้กระจายอยู่ทั่วประเทศ

สำหรับการจัดงาน "Start up Thailand 2016" ครั้งนี้จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด"Unite to Rise"ซึ่งเป็นการรวบรวมสตาร์ต อัพ และหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับสตาร์ต อัพทุกภาคส่วนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย. โดยเน้นการใช้สินค้าและบริการของสตาร์ต อัพ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ได้เปิดเวทีให้สตาร์ต อัพ ที่มีไอเดียดี มีความสามารถได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงความคิดเห็นและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมผลงานในการสร้างธุรกิจใหม่ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ที่มีประโยชน์แก่นักธุรกิจสตาร์ต อัพและนักลงทุน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและการร่วมทุน เพื่อส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต"

ดร.พิเชฐ กล่าวต่อไปว่าขณะนี้ไทยมีระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็มที่พร้อมในการสร้างให้เกิดสตาร์ต อัพ โดยมีทั้งทุน ที่รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงการคลัง จัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือที่เรียกว่ากองทุนหมื่นล้านบาท ขณะที่เอกชนร่วมมือกับภาครัฐสร้างเครือข่ายประชารัฐ

ด้านดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่า "นโยบายของกระทรวงไอซีที ชัดเจนในเรื่องของการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ต อัพเพื่อให้เกิดความสอดคล้องและนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล(Digital Economy) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักด้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจผนวกกับไอทีกระทรวงมีเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปต่อยอดธุรกิจเพื่อยกระดับรายได้ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตนอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภายใต้กระทรวง ที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมให้การสนับสนุนนักธุรกิจสตาร์ต อัพ ได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตตามวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่จะพัฒนาประเทศให้ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ต่อไป

รัฐบาลจริงจังในการบูรณาการ และให้การสนับสนุน ส่งเสริมสตาร์ต อัพ ซึ่งเชื่อว่า 2 ปี หลังจากนี้จะเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยไอซีทีได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เห็นชอบ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลอีโคโนมี 3 ฉบับ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในอีกวันที่ 29 เมษายน นี้

หากผ่านความเห็นชอบจากสนช. และประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีการจัดตั้งกองทุนเบื้องต้นใช้ชื่อว่า กองทุนดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมูลค่า 1 หมื่นล้านบาทขึ้นมาอีก 1 กองทุน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวกับดิจิตอลอีโคโนมี การพัฒนาคน การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ การวิจัยและพัฒนา โดยรูปแบบจะมีทั้งการร่วมทุน และ การให้กู้ยืม โดยเม็ดเงินที่นำมาจัดตั้งกองทุนดังกล่าวส่วนหนึ่งจะมาจากงบประมาณ และเงินรายได้จากการประมูลใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมของ กสทช.

ด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ต ล่าสุดโครงการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปครอบคลุม 7 หมื่นหมู่บ้านภายในระยะเวลา 2 ปี ล่าสุดโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการเคเบิลใต้น้ำ ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับภาคเอกชนไปบ้างแล้ว ซึ่งมีเอกชนให้ความสนใจร่วมลงทุน

ด้านการพัฒนาบุคลากร ที่ผ่านมาได้มีการร่วมหารือกับสถาบันการศึกษา ที่ขณะนี้มีศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ ซึ่งจากการหารือกับจุฬาฯ ต้องการสร้างบุคลากรทางด้านการแพทย์และการท่องเที่ยว ส่วนลาดกระบัง ต้องการสร้างบุคลากรทางด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ ม.ศรีปทุม และม.กรุงเทพ ต้องการสร้างบุคลากรด้านครีเอทีฟ

อนึ่งงาน "Startup Thailand 2016" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงานมีปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "วิสัยทัศน์และพลังสร้างชาติด้วย Startup Thailand" โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ "การขับเคลื่อน Startup Thailand : ฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทย" โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและ "Creative Economy : A Platform for Korean Startup Development" โดย ฯพณฯ ชเวยางฮี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวางแผนอนาคต ประเทศเกาหลีใต้ พร้อมกันนี้ยังเปิดเวทีสัมมนาโดยเชิญ Startup ที่มีเชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ อาทิ หัวข้อ "Startup & New Investment Opportunities in Asia" โดย นายเดฟ แมคเคลอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง "500Startups"รวมถึงหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจและมีประโยชน์อีกมากมายตลอดภายในงานทั้ง 4 วัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559