การทำงานแบบ HYBRID ในโลกยุคโควิด ที่ WFH มีปัญหา

13 มี.ค. 2564 | 21:00 น.

ในยุคที่ไวรัส โควิด -19 แพร่ระบาด จนทำให้การทำงานไม่สามารถเดินหน้าในรูปแบบเดิมได้ จนมีการ Work from Home (WFH) หรือการทำงานทางไกล (Remote Work) ซึ่งแรกๆ ก็เหมือนจะดี เพราะประสิททธิภาพและประสิทธิผลของงานทีไ่ด้ไม่แตกต่าง แต่นานวันเข้า ก็พบข้อเสีย จนทำให้ต้องเกิดการทำงานในรูปแบบลูกผสม (Hybrid) ระหว่างการทำงานทางไกลแบบไม่เจอตัว กับ การทำงาน ณ สถานที่ทำงานแบบเจอตัว


นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป กล่าวว่า การทำงานจากนี้ไป เชื่อว่าจะเป็นแบบลูกผสม (Hybrid) ระหว่างการทำงานทางไกลแบบไม่เจอตัว กับ การทำงาน ณ สถานที่ทำงานแบบเจอตัวซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก WFH เริ่มเห็นผลเสีย แม้หลายคนเชื่อว่า เมื่อวิกฤตโควิดจะผ่านพ้นไป แต่การทำงานทางไกล หรือทำงานจากที่บ้านจะยังคงอยู่ และกลายเป็นสิ่งปกติใหม่ไปในที่สุด

ในช่วงที่ผ่านมา คนจำนวนไม่น้อย มองเห็นประโยชน์ของการไม่ต้องเข้าออฟฟิศ โดยเฉพาะการที่ไม่ต้องเดินทางฝ่ารถติดวันละหลายๆ ชั่วโมงทั้งไปและกลับนอกจากนั้น การ WFH ก็ดูเหมือนไม่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงเลย

แต่…

มหาวิทยาลัย MIT ได้ทำการสำรวจบริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานทางไกล พบว่าในประเด็นต่อไปนี้ เป็นปัญหาและความท้าทาย สำหรับการทำงานแบบไม่เข้าออฟฟิศ

1. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) – รายงานจากการวิจัยพบว่า ในระหว่างที่พนักงาน WFH ความคิดสร้างสรรค์จะลดลง ส่วนหนึ่งคงมาจากการที่ไม่ได้มีโอกาสพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นๆ

2. การเริ่มต้นโครงการหรืองานใหม่ๆ ที่ต้องทำร่วมกันเป็นทีม (Starting New Projects) – การเปิดเกม (Kick Off) โครงการใหม่ มักไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ หากสมาชิกทุกคนไม่มีโอกาสได้เจอกันแบบตัวเป็นๆ (การเจอกันออนไลน์ ไม่ช่วยแก้ปัญหานี้)

3. วัฒนธรรมในการทำงาน (Culture) – การ WFH หรือ Remote Work ทำให้การสร้างวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกัน เกิดขึ้นได้ยาก

4. การสอนงานและการโค้ช (Mentoring & Coaching) – การพัฒนาบุคคลากรทำได้ยากกว่า โดยเฉพาะถ้าต้องสอนหรือให้ Feedback แบบตัวต่อตัว จึงทำให้คนที่ทำงานจากบ้าน พลาดโอกาสในการเรียนและพัฒนาตนเอง ถึงแม้จะมีคลาสออนไลน์ให้เรียน ก็ไม่เหมือนกับการได้เจอตัวและนั่งพูดคุยกัน

แนวทางการแก้ไขแบบง่ายๆ คือ ประกาศนโยบาย “ลูกผสม” (Hybrid) ระหว่างการทำงานทางไกล กับ การต้องมาทำงานที่สำนักงาน เรียกง่ายๆ คือ “ทางสายกลาง” มีประสิทธิภาพมากที่สุด องค์กรต้องมีการวางแผนการทำงานใหม่ที่เอื้อให้พนักงานมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ตอบรับในด้านเวลาและสถานที่ที่เขาทำงาน โดยเน้นที่ผลลัพธ์เป็นสำคัญ ลดการให้ความสำคัญที่เวลาและสถานที่ เพื่อให้ได้ประสิทธิผลและผลลัพธ์ที่ต้องการ ขณะเดียวกัน ต้องลงทุนในจุดที่เพิ่มประสิทธิภาพ องค์กรจะมองไปไกลกว่าสถานที่สำนักงานของตนเอง เพื่อสร้างพื้นที่ทำงานส่วนตัว ที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ทุกที่ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

การทำงานลักษณะนี้ ผู้นำ หรือหัวหน้า ต้องมี 4 บทบาทคือ

1. Conductor – บทบาท “วาทยากร” ทำหน้าที่กำหนดเป้าหมาย วางแผนงาน ตัดสินใจ และดูแลให้ทีมงานแต่ละคนทำงานของตนเองให้ดีที่สุด และเชื่อมโยงงานต่างๆ เข้าด้วยกัน เหมือนวาทยากรควบคุมนักดนตรีในวงออร์เคสตร้า

2. Catalyst – บทบาท “ผู้กระตุ้น” ทำหน้าที่คล้ายเชียร์ลีดเดอร์ กระตุ้นพลังในการทำงานของพนักงาน ซึ่งบางครั้งอาจต้องเล่นบทร้าย บางทีก็ต้องใจดี เรียกว่า ทั้งตบทั้งจูบ ประมาณนั้น เพื่อให้เลือดลมในการทำงานของทุกคน สูบฉีดอย่างเต็มที่

3. Coach – บทบาท “โค้ช​“ ทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนและพัฒนา ให้คนทำงานมีความรู้ ความสามารถ และทักษะ พร้อมสำหรับการแสดงศักยภาพสูงสุด

4. Champion – บทบาท “นักต่อสู้” ทำหน้าที่ช่วยแก้ปัญหา หาข้อมูล หาเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์สนับสนุน ขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่พบเจอระหว่างการทำงาน เพื่อให้แน่ใจว่า การทำงานจะราบรื่นและไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้

ในแต่ละช่วงเวลา หัวหน้าต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้เหมาะกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่