ยูเอ็นยอมรับปัญหาการกระจายวัคซีนต้านโควิดทำประเทศยากจนเข้าไม่ถึงวัคซีน

23 ก.พ. 2564 | 06:45 น.

ยูเอ็นเผย 75% ของวัคซีนต้านโควิดทั่วโลกตกอยู่ในครอบครองของประเทศร่ำรวยเพียง 10 ประเทศ วอนอย่ากักตุน หนุนการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม ด้าน WHO เผยบางประเทศซื้อตรงจากบริษัทผู้ผลิตทำให้อุปทานวัคซีนไม่เพียงพอสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้รัฐสภายุโรปจัดทำ แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน เขากล่าวในที่ประชุม European Semester Conference ทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างรัฐสภาเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเมื่อวานนี้ (22 ก.พ.) ระบุว่า "การมีเพียง 10 ประเทศเท่านั้นที่ได้ครอบครองวัคซีนกว่า 75% ของวัคซีนที่ผลิตได้ทั้งหมดทั่วโลกในขณะนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม แต่ยังอันตรายอีกด้วย

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส

นายกูเตอร์เรสซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกสกล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ "ไม่สามารถยอมรับได้" พร้อมย้ำถึงความจำเป็นในการมีแผนการระดับโลก

"ผมขอเรียกร้องให้โลกมีแผนการฉีดวัคซีนที่มองภาพรวมทั้งโลก ขอให้เราร่วมระดมทุกคนที่มีอำนาจเกี่ยวข้อง ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ และศักยภาพด้านการผลิตและการเงิน เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้" นายกูเตอร์เรสระบุ "เพียงแค่นั้น เราก็จะสามารถเอาชนะโรคโควิด-19 และสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยืดหยุ่นมากขึ้นได้"

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกูเตอร์เรสได้เสนอให้กลุ่ม G20 จัดตั้งหน่วยงานฉุกเฉินเพื่อจัดทำแผนการฉีดวัคซีนทั่วโลก นอกเหนือไปจากโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อจัดหาวัคซีนให้กับประเทศยากจน

ยูเอ็นหนุนการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส

ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ณ วันที่ 19 ก.พ.ชี้ว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่กำลังพัฒนาอยู่ 251 ชนิด โดยในจำนวนนี้มี 70 ชนิดที่กำลังอยู่ในขั้นทดลองทางคลินิกในประเทศต่างๆ รวมถึงเยอรมนี จีน รัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยังเปิดเผยถึงอีกมุมหนึ่งของปัญหาว่า การที่ประเทศร่ำรวยทำข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 โดยตรงจากบริษัทผู้ผลิต กำลังส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวของ WHO ในนามโครงการโคแว็กซ์ (COVAX) ทำให้ WHO สามารถซื้อวัคซีนได้ในจำนวนโดสที่น้อยลง

"เรื่องเงินไม่ใช่ความท้าทายเดียวที่เรามี และประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง หากไม่มีวัคซีนให้ซื้อ เงินก็ไม่มีความหมาย" นายทีโดรสกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวของ WHO วานนี้ (22 ก.พ.) เขาจึงเรียกร้องให้ ทุกประเทศรวมถึงประเทศร่ำรวย ให้ร่วมกันแบ่งปันวัคซีนในทันที และขอความร่วมมือผู้ผลิตวัคซีนในการให้ความสำคัญกับสัญญาที่ได้ทำไว้กับ COVAX เป็นอันดับแรก รวมถึงให้เร่งเพิ่มกำลังผลิตวัคซีนให้มากขึ้นด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: