“กัลฟ์” ผนึก “‘ทันตะ จุฬาฯ” ออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ช่วยชุมชนสู้โควิด

27 ต.ค. 2563 | 10:40 น.

“กัลฟ์” จับมือทันตแพทยศาสตร์ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ช่วยชุมชนสู้ “โควิด-19”

นายสิตมน รัตนาวะดี ในนามตัวแทน นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า กัลฟ์ ได้ดำเนินการร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ “GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน” ซึ่งในปีนี้ออกหน่วยครั้งแรกที่ชุมชนบ้านแบนชะโด โดยตั้งเป้าว่าจะออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่จนถึงสิ้นปี และอาจขยายพื้นที่ไปจังหวัดอื่นเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เน้นชุมชนที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากศูนย์บริการสาธารณสุข

                ทั้งนี้  เพื่อให้กลุ่มผู้ที่ยากจนหรือด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงได้รับความรู้ด้านการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้อง นอกจากนี้พนักงานกัลฟ์ยังมาร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยรับลงทะเบียน และให้ความรู้เกี่ยวกับทันตสุขศึกษาอีกด้วย

                “การดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อรักษาและบรรเทาปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ในครั้งนี้เป็นการทำฟันฟรีให้กับคนในชุมชน ครอบคลุมการรักษาฟันเบื้องต้น อาทิ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ และเอ็กซเรย์ รวมไปถึงทันตกรรมที่ซับซ้อนอย่างการผ่าฟันคุด โดยรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 100-130 คนต่อวัน”

“กัลฟ์” ผนึก “‘ทันตะ จุฬาฯ” ออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ช่วยชุมชนสู้โควิด

                นอกจากนี้ กัลฟ์ ยังสนับสนุนเครื่องดูดน้ำลายความแรงสูง (High Power Mobile Suction) จำนวน 10 เครื่อง เพื่อนำไปใช้ที่หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่อีกด้วย ความร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนพันธกิจเพื่อสังคมของกัลฟ์ภายใต้แนวคิด “Powering the Future, Empowering the People” ที่มุ่งดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างยั่งยืน

“สืบเนื่องจากการที่ทางกัลฟ์ได้ลงพื้นที่ไปแจกข้าวกล่องแก่คนในชุมชนช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ทีมงานเห็นว่ายังมีประชาชนที่ยังเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงนำร่องจับมือกับทันตะ จุฬาฯ ออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ดังกล่าว”

                รศ. ทพ. ดร. พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเดินทางมาหาทันตแพทย์แต่ละครั้งสำหรับผู้มีรายได้น้อยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีทั้งค่าเดินทาง และการหยุดงานที่อาจทำให้เสียรายได้ ซึ่งปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะโรคฟันผุและปริทันต์อักเสบ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีจะลุกลามได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายตลอดการใช้ชีวิตประจำวัน

                สำหรับการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่บนมาตรฐานใหม่ในบริบท New Normal นั้นจะมีจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกาย ความดัน ชีพจร รวมถึงซักประวัติผู้เสี่ยงสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ด้วย เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของทุกคน โดยหน้างานมีการจัดที่รับบัตรคิว การจัดที่นั่งรอให้มีระยะห่างที่เหมาะสม มีมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานทำฟันตามมาตรฐานทันตแพทยสภา ซึ่งทันตแพทย์และบุคลากรทางทันตกรรม ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น แผ่นป้องกันใบหน้า (Face Shield) แว่นป้องกัน หน้ากากอนามัย ชุด PPE และถุงมือยาง

                ระหว่างปฏิบัติงาน มีฉากกั้น เคร่งครัดเรื่องการฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาบ้วนปากก่อนการรักษา และทำความสะอาดเก้าอี้ทำฟันก่อนและหลังการรักษาทุกครั้ง นอกจากนี้ยังมีเครื่องดูดละอองฝอย (Extra Oral Suction) เพื่อลดการฟุ้งกระจายของละออง และป้องการการแพร่เชื้อโรค ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการร้ายแรง ทางทันตแพทย์จะเขียนใบส่งตัวมาที่รพ.จุฬาฯ เพื่อนัดหมายตามขั้นตอนต่อไป