โภชนาการเด็กไทยยังแย่ ส่งผล "เตี้ยแคระแกร็น" เพิ่ม

24 ต.ค. 2563 | 03:20 น.

ภาวะ "เตี้ยแคระแกร็น" ในเด็ก ไม่ใช่เป็นเรื่องตลก ที่เอามาล้อเล่นกัน แต่ภาวะเหล่านี้ เป็นผลร้ายที่เกิดจากปัญหาด้านโภชนาการ ที่เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนและพอเพียง จากผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟ พบแนวโน้มที่น่ากังวล โดยเฉพาะด้านภาวะโภชนาการของเด็ก และอัตราการเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา

การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือ MICS (Multiple Indicators Cluster Survey) ที่จัดทำทุก 3 ปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ในระดับนานาชาติ (MICS 6) และนับเป็นครั้งที่ 4 ของประเทศไทย มีการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก จากครัวเรือน 40,660 ครัวเรือนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน 2562 และถือเป็นการสำรวจระดับประเทศที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างประชากรเด็กและสตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

โภชนาการเด็กไทยยังแย่ ส่งผล "เตี้ยแคระแกร็น" เพิ่ม

นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ผลสำรวจเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบความเป็นอยู่ของเด็ก และหวังว่าผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการเผยแพร่ อภิปราย วิเคราะห์และวางแผนนโยบายเพื่อความอยู่ดีมีสุขของเด็กทุกคนในประเทศไทย

ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลด้านภาวะโภชนาการของเด็กไทย โดยพบว่า อัตราของเด็กที่เตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง และมีน้ำหนักเกิน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาวะเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของเด็ก สุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็กในระยะยาว

ผลสำรวจ ระบุว่า  เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีในประเทศไทย 13% มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ในขณะเดียวกัน เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี 8% มีภาวะผอมแห้ง และ 9% มีน้ำหนักเกิน ซึ่งเพิ่มจากปี 2558 ที่ภาวะเตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง หรือน้ำหนักเกิน อยู่ที่ 11%, 5% และ 8% ตามลำดับ

โภชนาการเด็กไทยยังแย่ ส่งผล "เตี้ยแคระแกร็น" เพิ่ม

แม้นมแม่จะเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ที่สามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาสมองและป้องกันทารกจากการเจ็บป่วย แต่มีทารกอายุไม่เกิน 6 เดือนเพียง 14% เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งลดลงจากปี 2558 ที่ 23%

ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวล โดยความแตกต่างขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ระดับการศึกษาของแม่ และชาติพันธุ์ เช่น เด็กที่แม่ขาดการศึกษา เด็กที่อาศัยในครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้พูดภาษาไทย และเด็กที่อาศัยในครัวเรือนยากจนมาก มักขาดสารอาหารมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ โดยอัตราของเด็กเตี้ยแคระแกร็นคิดเป็น 19%, 18% และ 16% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (13%) มีข้อสังเกตว่า กรุงเทพมหานครมีเด็กที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นและน้ำหนักเกินมากกว่าภาคอื่น (17%)

โภชนาการเด็กไทยยังแย่ ส่งผล "เตี้ยแคระแกร็น" เพิ่ม

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังสะท้อนความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษา ในขณะที่เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยเข้าเรียนและจบชั้นประถมศึกษา แต่อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มครัวเรือนยากจนมาก เพียง 82% และ 53% ตามลำดับ และภาคใต้มีอัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายต่ำกว่าภาคอื่น (77% และ 56% ตามลำดับ)

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า แม้ความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในประเทศไทย จะได้รับการพัฒนาอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  จากรัฐบาลและองค์กรภาคสังคม แต่ผลสำรวจที่พบ แสดงให้เห็นว่า เด็กไทยยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะภาวะโภชนาการของเด็ก การไม่เรียนต่อระดับชั้นมัธยม หรือ จำนวนเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาเด็กๆ ต้องให้ความสนใจเพิ่มขึ้น และลงมือปฏิบัติให้เร็วขึ้น เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กอย่างยั่งยืน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 18 ฉบับที่ 3,621 วันที่ 22 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2563