ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

19 ต.ค. 2562 | 12:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เนื่องในโอกาสมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จฯเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ นี้ ก่อนที่จะได้ชมภาพขบวนจริง หลายท่านคงได้เห็นภาพวันซ้อมย่อยซ้อมใหญ่กันแล้ว เพื่อให้ได้อรรถรสในการรับชมว่าเรือไหนเป็นเรืออะไร ลองมาฟัง “น.อ.ไพฑูรย์ ปัญญสิน” ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายควบคุมขบวนเรือ กองทัพเรือ เล่าว่า

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐ ด้วยความใส่พระราชหฤทัยของ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเรือจัดขบวนเรือตามโบราณราชประเพณี ในเส้นทางเสด็จฯ จากท่าวาสุกรี ไปยังท่าราชวรดิฐ ระยะทาง ๓.๔ กิโลเมตร เป็นพระราชพิธีเบื้องปลาย ในการเสด็จฯ เลียบพระนครทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ จึงมีการย้อนศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องการจัดขบวนเรือในอดีตแล้วนำมาปรับปรุงใหม่  

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

นับเป็นครั้งแรกที่เป็นไปตามขนบประเพณีโบราณที่มีการบันทึกเป็นหลักฐานชัดเจน มีการนำเทคโนโลยีติด GPS ที่ลำเรือเพื่อดูรูปขบวน ทำให้ขบวนมีความสวยงามมากขึ้น  โดยเฉพาะการปฏิบัติท่าทางในการพาย ที่จะใช้ท่าการพายนกบินตลอด และที่สำคัญฝีพายทุกคนต้องมีสติ ตื่นตัวตลอดเวลา ต้องครองตนอยู่ในระเบียบวินัยมากขึ้น ทั้งการจัดขบวนครั้งนี้จะถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยต่อไป

ทั้งนี้การจัดพระราชพิธีเบื้องปลาย ทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน กองทัพเรือนำขึ้นถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลายสิ่งผ่านพระเนตรพระกรรณ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ขณะที่เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง และตามร่างหมายกำหนดการ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ จะเสด็จทรงเรือพระที่นั่งดังกล่าว สำหรับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จะอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญลงประดิษฐาน และครั้งนี้จะมีพระตำรวจหลวงลงเรือครั้งแรก แอบกระซิบให้นิดหนึ่งใครที่อยากชมความสวยงามมากๆ ต้องไปจับจองที่นั่งช่วงบริเวณร.พ.ศิริราช

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

นอกจากนี้ด้านบทเห่เรือโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีการนิพนธ์ขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ๓ บท คือ ๑.บทสรรเสริญพระบารมี ดังตัวอย่างข้างต้น  ๒.บทชมเรือ และ ๓.บทชมเมือง ซึ่งประพันธ์โดย น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญกองทัพเรือ

สำหรับการจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี มีจํานวน ๕๒ ลํา กําลังพลฝีพาย จํานวน ๒,๒๐๐ นาย แบ่งออกเป็น ๕ ริ้ว ๓ สาย  โดยมีเรือที่สําคัญเป็นเรือพระที่นั่งได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งทรง  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช  เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง ๔ ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

  ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ ๘ ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก 

ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ ๑๔ ลำ รวมทั้งสิ้น ๕๒ ลำ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  

 

 

 

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ 

 

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

 

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

 

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง 

เป็นชื่อเรือ ๒ ลำคู่กัน สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดสร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้ง ๒  ลำนี้มาก พ.ศ. ๒๕๐๘ บูรณะเรือใหม่โดยใช้หัวเรือเดิมมาประกอบ

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือครุฑเหินเห็จและเรือครุฑเตร็จไตรจักร 

เรือเหล่าแสนยากรทำหน้าที่เป็นเรือรูปสัตว์หรือเรือศีรษะสัตว์ เป็นเรือคู่ของเรือครุฑเตร็จไตรจักร สร้างลำเรือครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือพาลีรั้งทวีปและเรือสุครีพครองเมือง 

เรือเหล่าแสนยากรทำหน้าที่เป็นเรือรูปสัตว์หรือเรือศีรษะสัตว์ เป็นเรือคู่ของเรือสุครีพครองเมือง สร้างลำเรือขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือกระบี่ปราบเมืองมารและเรือกระบี่ราญรอนราพณ์ 

เรือเหล่าแสนยากรทำหน้าที่เป็นเรือรูปสัตว์หรือเรือศีรษะสัตว์ เป็นเรือคู่ของเรือกระบี่ราญรอนราพณ์ สร้างลำเรือขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๑

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรืออสุรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี 

ชื่อเรือ ๒ ลำนี้มาจากคำภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า อสุรวายุภักษ์ แปลว่า “อสูรผู้มีลมเป็นอาหาร” อสุรปักษี แปลว่า “อสูรผู้เป็นนก” หัวเรือของเรือทั้ง ๒ ลำมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือมีร่างกายเป็นนก มีหัวหรือหน้าเป็นยักษ์

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ 

เป็นเรือ ๒ ลำที่ดัดแปลงจากเรือรบ เป็นเรือนำขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น 

เรือเหล่าแสนยากรทำหน้าที่เป็นเรือประตูในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือตำรวจ 

มีลักษณะคล้ายกับเรือแตงโมและเรือดั้ง ไม่ปรากฏหลักฐานที่สร้าง มีพระตำรวจหลวงชั้นปลัดกรม หรือข้าราชการในพระราชสำนักที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ นั่งประจำ

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือดั้ง 

เป็นเรือไม้ทาสีน้ำมัน ไม่มีลวดลายใช้เป็นเรือกระบวนสายนอก กลางลำมีคฤห์ ซึ่งมีนายทหารนั่งลำละ๑นาย ในเรือมีพลปืน๔นายและมีนายเรือ นายท้าย และฝีพายลำละ๒๙-๓๕ คนขึ้นอยู่กับขนาดของเรือและมีคนกระทุ้งเส้าลำละ ๒ นาย

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,515 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี