‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า

13 มี.ค. 2562 | 05:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“มันต้องมีเงินมาช่วย อยู่ดีๆ ให้เขาหยุดปลูกพืชเดิม ทำให้รายได้ประจำเดือนของเขาหายไป แล้วพวกเขาจะทานอะไร เพราะฉะนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ต้องประคองชีวิตให้เขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้พอสมควร แล้วไปเรียนวิธีทำมาหากินแบบใหม่ แม้ชาวบ้านเขาร่วมในความตั้งใจ แต่ทุกคนยังทำเหมือนเดิม ทุกคนยังปลูกข้าวโพดเหมือนเดิม เพราะยังไม่มีอะไรไปทำให้เขาเปลี่ยนได้ ฉะนั้นทางพื้นที่ต้องเจรจาให้ถูกกฎหมายก่อน นี่คือประเด็นใหญ่ของประชาชนเลย เพราะถ้าแก้ตรงนี้ได้จะได้กำลังใจมาเยอะเลย อย่างไรก็ตามการมีพื้นที่ถูกกฎหมายไม่ได้หมายความว่าทำมาหากินรอด อันนั้นเป็นอีกโจทย์หนึ่ง ซึ่งก็ยากพอกันเราจะต้องแก้ไขไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นทุกคนไม่มีใครนั่งรอรับอะไรจากใคร ทุกคนต้องดิ้นรนที่จะสร้างชีวิตใหม่ นี่คือความยั่งยืน ” คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้มีส่วนสำคัญในการจัดทำโครงการ “น่านแซนด์บ๊อกซ์ (Nan Sandbox)”

‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า

แสงสะท้อนภาพตึกกสิกรไทยสำนักงานใหญ่บนผืนน้ำเจ้าพระยาในขณะนี้ งดงามไปด้วยโทนสีเขียวของผืนป่าและโทนสีต่างๆ ของสัตว์ป่ารายล้อมอยู่รอบตึก อาทิ ช้างและเสือดำ โดยในช่วงเวลากลางคืนจะส่องสว่างเต็มทั้งพื้นที่ ซึ่งสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และเป้าหมายในการสร้างผืนป่าที่จังหวัดน่านให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง ทั้งผืนป่าและหัวใจของชาวบ้านทุกคน

หลายปีที่ผ่านมาในจังหวัดน่าน จะเห็นภาพภูเขาหัวโล้น พื้นที่ป่าไม้ที่ถูกตัดทำลายและแทนที่ด้วยภาคการเกษตร กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกภาคส่วนหันมาร่วมกันบูรณาการ หล่อหลอมจนก่อเกิดเป็นโครงการ “Nan Sandbox” โดยมีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อน 3 มิติ ได้แก่  1. แก้ไขปัญหาด้านที่ดิน-ป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ถูกต้องตามกฎหมายและปรับคืนพื้นที่มาเป็นสภาพป่า 2. จัดหาเงินทุนสนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตทางการเกษตรและการเลี้ยงชีพในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 3.ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่การผลิตหรืออาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรายได้เพียงพอ และยกระดับคุณภาพชีวิต

เพื่อเป็นการสื่อสารให้ประชาชนทุกคนร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ของไทยรวมทั้งตระหนักถึงป่าต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีจุดกำเนิดมาจากจังหวัดน่าน ทางธนาคารกสิกรไทย จึงได้ Wrap กระจกบริเวณอาคารทั้งหลังของสำนักงานใหญ่ โดยแนวคิดการตกแต่งอาคาร ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ด้วยภาพป่าไม้นี้ โดยมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าของชาติ โดยเชื่อว่าทรัพยากรป่าเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่ายิ่งของประเทศไทยที่พวกเราทุกคนต้องหวงแหนร่วมมือ ร่วมใจ และร่วมแสดงพลัง เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญนี้ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบไป การตกแต่งอาคารด้วยภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และสัตว์ป่านานาชนิดที่สำคัญสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อคนไทยทุกคนตระหนัก เข้าใจ และร่วมมือกันอย่างจริงจัง อย่างยั่งยืนแล้ว เราจะมีทรัพยากรธรรมชาติป่าที่สมบูรณ์และอุดมด้วยสัตว์ป่านานาพันธุ์คงอยู่ในระบบนิเวศของประเทศไทยสืบไป ดังนั้น โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และต่อยอดเป็นโครงการ “Nan Sandbox”

‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า

Nan Sandbox คือ? เป็นโครงการที่ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมมือกันแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้ในจังหวัดน่านและสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืนให้ราษฎร โดยรัฐบาลมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 48/2561 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง การบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษ เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน : พื้นที่จังหวัดน่าน

จากรายงานธนาคารแห่งความยั่งยืนของกสิกรไทยแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2560 ระบุถึงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมไว้ว่า “ธนาคารมีการดำเนินงานโดยประสานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้และแก้ไขปัญหาสภาพป่าเสื่อมโทรมจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืช โดยหวังว่าจะพลิกฟื้นผืนป่าในจังหวัดน่านให้กลับมามีชีวิตที่งดงาม โดยสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของประเทศในการมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและมีความต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน”

จังหวัดน่านนี้ มีพื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ โดยกว่า 85% หรือประมาณ 6 ล้านไร่เป็นป่าสงวนตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ป่าสงวนลดลงอย่างน่าใจหายโดยเหลือเพียง 4.5 ล้านไร่ หรือถูกชาวบ้านรุกเข้าไปทำการเกษตรแล้วกว่า 1.8 ล้านไร่ ของพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด ไม่เพียงเท่านั้นการสูญเสียพื้นที่ป่าอย่างหนักของน่านยังส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำสายสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นดั่งสายเลือดหลักของประเทศไทย ฉะนั้นการเร่งฟื้นฟูถือเป็นกระบวนการที่ต้องปฏิบัติอย่างเร่งด่วน

‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า

โดยสูตรที่นำมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดน่าน คือ 72-18-10 โดย 72% คือ พื้นที่ป่าสงวนที่สมบูรณ์ที่เหลือในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนจะช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่ตลอดไป 18% คือ พื้นที่ทำกินในเขตป่าที่เกษตรกรน่านยินดีฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ โดยรัฐจะอนุญาตให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ส่วนนี้ได้ และ 10% คือ พื้นที่ที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ (แต่ยังคงเป็นป่าสงวนโดยกฎหมาย) สำหรับแผนงานของ Nan Sandbox ต่อจากนี้ คือ การนำองค์ความรู้ทุกศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนวิถีทำกินให้เกษตรกร แม้ปัจจุบันมีพืชทางเลือกที่สามารถสร้างรายได้และเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมอาหารและแปรรูป อาทิ กาแฟ โกโก้ หรือเห็ด แต่หัวใจสำคัญคือการศึกษาปัจจัยแวดล้อมว่าเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด รวมทั้งมองถึงการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการเกษตรมาปรับใช้ ตลอดจนตั้งคำถามที่ทางคุณบัณฑูร เคยกล่าวไว้ คือ “สร้างยี่ห้ออย่างไร ขายใคร ขายเท่าไหร่” เพื่อทำให้ชาวบ้านมีรายได้ องค์ความรู้และร่วมกันดูแลรักษา ฟื้นฟูผืนป่า โดยมีนัยสำคัญคือ สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมีมิตรสัมพันธ์

‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า

การสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์ในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในไทย ได้ดำเนินการออกมาหลากหลายรูปแบบ เช่น บทเพลง ชีวิตสัมพันธ์ โดยเป็นซิงเกิลการกุศลในปี 2530 ส่วนการ Wrap ตึกในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งมิติของการร่วมกันปลูกฝังการรักษ์ผืนป่าให้กับทุกคนได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน โดยเฉพาะป่าต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทอดยาวและหล่อเลี้ยงประชาชนไทยมาตราบนานเท่านาน

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,451 วันที่  10 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2562

‘Nan’ Sandbox ปลูกจิตสำนึกรักษ์ป่า