ทางออกนอกตำรา : ซี้ดส์..ค่าคอมฯเครื่องบิน 38 ลำ ไม่อยากพูดมาก...เจ็บคอ

19 ม.ค. 2562 | 14:54 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ค่าคอม-02 ฮือฮากันทั้งวงการ เมื่อ “ดีดีถั่ว-สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย มีมติอนุมัติการจัดซื้อเครื่องบินโดยสารเร่งด่วนภายใต้กรอบ 38 ลำ มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท

"เสี่ยถั่ว" บอกว่า ตามขั้นตอนจะต้องเสนอรายละเอียดของการจัดซื้อ จัดหา ให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาภายในศุกร์ที่ 18 มกราคสม .2562 อย่างช้าสุดก็เป็นต้นสัปดาห์หน้า

ก่อนที่จะเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณา ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ

[caption id="attachment_377023" align="aligncenter" width="503"] สุเมธ ดำรงชัยธรรม สุเมธ ดำรงชัยธรรม[/caption]

ดีดีการบินไทย อธิบายว่า เครื่องบินทั้ง 38 ลำ ที่จะจัดซื้อ จัดหา จะนำมาทดแทนเครื่องเก่า 2 ช่วง

ช่วงแรกจัดหา จัดซื้อเครื่องบินมา 25 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่จะปลดประจำการและมีต้นทุนการซ่อมบำรุงสูง 19 ลำ

ช่วงที่สอง จะจัดซื้อ จัดหาเครื่องบินอีก 13 ลำ มาทดแทนเครื่องบินที่ปลดประจำการ 12 ลำ เท่ากับ มีการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมแค่ 7 ลำ และจะทำให้การบินไทยมีฝูงบินเพิ่มจาก 101 ลำ ในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 110 ลำ

ทั้งนี้ เครื่องบินลำแรกจะเข้ามาประจำการในอีก 2 ปี หรือประมาณ 2564-2565 หลังจาก ครม.อนุมัติให้จัดซื้อ เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตทั้งแอร์บัส ของฝรั่งเศส และโบอิ้ง ของสหรัฐอเมริกา มีคำสั่งซื้อเครื่องบินเต็มมือ

การจัดหาเครื่องบินมาทดแทนเครื่องบินที่ปลดระวางครั้งนี้ จะทำให้การบินไทยมีที่นั่งให้บริการผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีกปีละ 3% ตลอด 7-8 ปี และทำให้ การบินไทยมีฝูงบินทั้งสิ้น 110 ลำ

ในช่วงที่รอการจัดหาเครื่องบินรอบใหม่ การบินไทยจะเช่าเครื่องบินมาเสริมบริการ 2 ลำ ขนาด 300 ที่นั่ง เพื่อเพิ่มการให้บริการเพิ่ม 1% ต่อลำ
ค่าคอม-001 ดีดีการบินไทย ชี้แจงอีกว่า ในปี 2562 การบินไทยตั้งเป้ารายได้ไว้ 2 แสนล้านบาทเศษ ใกล้เคียงกับปี ก่อนอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสารจะอยู่ที่ 75-78% เนื่องจากจำนวนเครื่องบินเท่าเดิม ค่าโดยสารต้องแข่งขัน มีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน จึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อดูแลต้นทุน ให้มีกำไร

มติซื้อเครื่องบินของบอร์ดการบินไทยชุดใหญ่ไฟกระพริบ 38 ลำ รอบนี้ ทำให้ “ตลาดการบิน ตลาดการเงิน เอเย่นต์ซื้อขายเครื่องบิน เอเย่นต์การติดตั้งอุปกรณ์บนเครื่องบิน” ที่ซบเซาเหี่ยวเฉามายาวนาน 7-8 ปี คึกคักขึ้นมาทันตาเห็น

เฮี่ยเต๋า....เฮีย ส....เสี่ย ด. ณ คลองเตย เฮียดำ...ต่างตีปีก

คนไทยหลายคนอาจจะไม่ค่อยรับรู้เรื่องราวที่วิลิศมาหราในการจัดซื้อ จัดหาเครื่องบิน แต่ผู้คนในธุรกิจการบินรับรู้กันว่า การซื้อเครื่องบินนั้นเป็นเรื่องชวนตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง และที่ผ่านมาการจัดซื้อเครื่องบินก็ไม่เคยมีมากขนาดนี้ ที่จัดซื้อ จัดหา มาในแต่ละปีลำสองลำ ล้วนเกิดขึ้นมาล้อไปตามมติที่ได้รับการอนุมัติจากครม.

ป้องปากซุบซิบกันในการบินไทยว่า ยุคใดอนุมัติจัดซื้อเครื่องบิน ยุคนั้นบารมีเบ่งบาน...

[caption id="attachment_376951" align="aligncenter" width="500"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ในประเทศไทยการจัดซื้อเครื่องบินที่มากที่สุด สนุกที่ที่ คึกคัก ตลาดแตกที่สุด เป็นช่วงที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี  “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เลขาธิการพรรคไทยรักไทย เป็นรัฐมนตรีคมนาคม “ทนง พิทยะ” เป็นประธานบอร์ดการบินไทย  “กนก อภิรดี” เป็นดีดีการบินไทย โดยคณะรัฐมนตรีมีการอนุมัติให้จัดซื้อเครื่องบินสูงสุดจำนวน 39 ลำ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

ยุคนั้นตลาดแตก บรรดาขาใหญ่ บรรดาล้อบบี้ยิสต์ เอเย่นต์ขายเครื่องบิน วัสดุ อุปกรณ์ตบแต่งบนเครื่องบิน วิ่งกันฝุ่นตลบอบอวล ตบตีช่วงชิงการขายกัน เพราะเพียงแค่ขายได้ 1 ลำ เงินค่าคอมมิชชั่นจากการขายเครื่องบินจะตกประมาณ 500 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ ถ้าขายได้ 10 ลำ เงินค่าคอมมิชชั่นที่ถูกต้องตามกฎหมายจะบังเกิดเป็น “ดอกผลทันที 5,000 ล้านบาท”
ค่าคอม-002 แล้วถ้ามีคำสั่งซื้อที่ตกลงกันได้ 39 ลำละครับพี่น้อง “ค่าคอมมิชชั่น” ที่ถูกต้องตามกฎหมายในอารยะประเทศ ซึ่งบันทึกผลการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการคมนาคมระบุชัดว่า ค่ายแอร์บัสจะจ่ายในอัตรา 5% ค่ายโบอิ้งจะจ่ายในอัตรา 3%

ใครได้งานจากการล็อบบี้และขายได้ตามสเป็กทีโออาร์ เงินในกระเป๋าเพื่อนำไปจัดสรรแจกจ่ายจะบานสะพรั่งถึง 19,500 ล้านบาท....

เห็นหรือยังว่าทำไมตลาดการบินจึงแตก และเกิดปรากฎการณ์ “แตกคอกัน จากเพื่อนรักกลายเป็นคู่แค้น ระหว่างพี่ใหญ่คุ้งน้ำเจ้าพระยา-เฮีย ส.จันทร์ส่องหล้า-เสี่ยแดง คลองเตย -เฮี่ยเต๋า-เครือข่ายสีเทาฟ้าในทุ่งดอนเมือง” จนบัดป่านนี้ยังไม่มีการสมานแผล

พลันเมื่อบอร์ดการบินไทยมีมติเสนอให้จัดซื้อจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ ในวงเงิน 200,000 ล้านบาท ตลาดจึงแตกอีกระลอก ประตูทองธุรกิจการบินในไทยเปิดอ้าซ่า...ฉิ่งฉาบ...ระนาดเอก

แน่นอนว่า แอร์บัส อยากจับจองการขายเครื่องบินในตระกูล A ขณะที่โบอิ้งนั้นก็มีพลังล้นเหลือไม่ธรรมดา เชื่อหัวผมเต๊อะว่า ฝุ่นตลบ

เพราะตามแผนการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ ที่การบินไทยจะมีแผนการจัดหาล้อตแรก 25 ลำ ล็อตที่สอง 13 ลำนั้น ใครได้งานไปเท่ากับรับทรัพย์กินยาว เพราะเครื่องบินในตระกูลล่าสุดของ 2 ค่ายนั้น สนนราคาขั้นต่ำลำละ 10,250-12,300 ล้านบาท ค่าคอมมิชชั่น นายหน้าแค่ 3-5% มันหอมหวานขนาดไหน ไม่ต้องพูดมาก...เจ็บคอ...

แม้รัฐบาลนายกฯลุงตู่จะมีระบบการจัดซื้อจัดหา ที่ใช้ระบบคุณธรรม มีการดึงเครือข่ายภาคีต่อต้านคอร์รัปชันเขาไปร่วมสังเกตการณ์ แต่เชื่อหัว “นายบากบั่น” เต๊อะว่า....ฝุ่นตลบ...

ไม่ต้องมาพูดกันถึงเรื่องว่าทำไมเดิมขอจัดซื้อ 23 ลำ แล้วถูกสภาพัฒน์แทงเรื่องกลับให้ไปทบทวนกันอีกต่อไป...สนามรบด้านธุรกิจการบินดุเดือดแน่นอน...รับประกัน

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3437 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-23 ม.ค.2562
595959859