'มหิดล'ขยายผล 'โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล' แก้ปัญหาชาติ

15 ต.ค. 2561 | 12:33 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

"มหิดล" เพิ่มมูลค่า ก่อรายได้ สร้างแรงจูงใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงบวกอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล

จากข้อมูลของ กรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2559 ระบุว่า ปริมาณขยะโดยเฉลี่ยที่คนไทยผลิตขึ้น มีปริมาณสูงถึง 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เลยทีเดียว และแนวโน้มของปริมาณขยะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อัตราการจัดการขยะที่ถูกต้องและกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ กลับมีเพียงเล็กน้อย ไม่เท่าทันกับปริมาณของขยะที่เพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ

4-2 หลังจากประสบความสำเร็จในการดำเนิน ”โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล” กับกลุ่มบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่ดำเนินโครงการมา มีปริมาณขยะรีไซเคิลที่สมาชิกนำมาฝากที่ธนาคารขยะ เป็นจำนวนถึง 1,920,891.98 กิโลกรัม คิดเป็นยอดเงินรับซื้อขยะรีไซเคิลจากสมาชิกเป็นจำนวนสูงถึง 10,173,818.03 บาท มหาวิทยาลัยมหิดล จึงต้องการขยายผลและความสำเร็จ “โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล” ไปสู่โรงเรียนในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะที่นับเป็นปัญหาระดับชาติ

โปรแกรมธนาคารขยะรีไซเคิลของมหาวิทยาลัยมหิดล ถูกพัฒนาขึ้นโดยกองเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  เพื่อใช้ในการบริหารจัดการระบบธนาคารขยะรีไซเคิลภายในมหาวิทยาลัย ตัวโปรแกรมสามารถทำธุรกรรมได้คล้ายระบบธนาคารทั่วไป เช่น การสมัครสมาชิก การรับฝาก การถอนเงิน และสามารถรายงานสรุปการทำธุรกรรมของทุกขั้นตอนได้  ซึ่งทำให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นเรื่องที่ง่าย รวดเร็ว และเชื่อถือได้

ก่อนหน้านี้ มีโรงเรียนเครือข่ายที่นำโปรแกรมของมหาวิทยาลัยมหิดลไปใช้แล้ว จำนวน 4 โรงเรียน โดยโรงเรียนเครือข่ายแห่งแรก คือ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล ในปีถัดมาจึงมีเพิ่มเติมคือ โรงเรียนวัดมะเกลือ(กาญจนลักษณ์วิทยา) โรงเรียนวัดทรงคนอง และโรงเรียนวัดสุวรรณาราม สำหรับปี 2561 นี้ ได้เพิ่มเติมโรงเรียนเครือข่ายระดับมัธยมต้นเป็นครั้งแรก คือ โรงเรียนมัธยมปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ และโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม)

3 นายศุภรัตน์ แดนโคกสูง หรือ ครูเฟิร์ส ที่ปรึกษาสภานักเรียน โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) เล่าว่า “ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนก็พยายามทำโครงการด้านขยะอยู่ แต่ยังไม่เป็นรูปร่างเท่าไรนัก โดยให้นักเรียนรู้จักแยกขยะตามหมวดหมู่ แล้วให้ช่วยกันเก็บและนำไปขาย เพื่อสมทบทุนทำกิจกรรมกีฬาสี จนเมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้ว มหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้ามาช่วยดำเนินโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ทั้งช่วยติดตั้งโปรแกรมธนาคารขยะ วางระบบ รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องเซิร์ฟเวอร์ สายแลนคอมพิวเตอร์ ตราชั่ง มีสมุดบัญชีคู่ฝากเพื่อให้สมาชิกถือติดตัว เพื่อที่จะได้เห็นยอดรายได้จากการขายขยะ อีกทั้งมีการฝึกอบรมวิธีการบริหารโครงการแก่ครูและนักเรียนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล รวมถึงติดต่อร้านรับซื้อของเก่าให้เข้ามารับขยะถึงที่โรงเรียนด้วย จึงทำให้โครงการขยะของโรงเรียนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างชัดเจน”

“ช่วงแรกๆ ที่เปิดรับสมัครสมาชิกมีคนสนใจแค่ 3-4 คนเอง แต่ผ่านมาไม่กี่เดือนก็มีมากถึง 50 กว่าบัญชีแล้ว ซึ่งสมุดบัญชี 1 เล่ม อาจมีเจ้าของบัญชีร่วมกันหลายคนได้ เราไม่บังคับว่าทุกคนต้องสมัครสมาชิก เพราะอยากให้เป็นไปตามความสมัครใจ จะได้มีแรงจูงใจ และไม่เป็นการสิ้นเปลืองสมุดบัญชีด้วย” ครูเฟิร์ส กล่าวเพิ่มเติม

เด็กหญิงจณิสตา นามพร (พั้นซ์) และ เด็กชายบุญยศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (โฟล์ค) นักเรียนชั้น ม.1 ที่ร่วมเป็นจิตอาสาให้กับโครงการฯ และทำหน้าที่เป็นแผนกบันทึกข้อมูลการรับซื้อขยะต่างๆ เล่าถึงขยะที่ทางธนาคารได้รับซื้อว่า ขยะรีไซเคิลที่มีคนนำมาขายมากที่สุด คือ กระดาษเอสี่ ขวดพลาสติก ลังกระดาษ ขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม ท่อพีวีซี รวมถึงน้ำมันที่ทอดอาหารแล้ว นอกจากนี้ ขยะบางอย่างถ้ามีการคัดแยกประเภทแล้วก็ยิ่งขายได้ราคาดี เช่น กระดาษสมุด เมื่อแยกปกและกระดาษขาวออกจากกัน จะมีราคาสูงกว่าแบบที่ไม่แยกปกแยกกระดาษ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 คนได้รู้เพิ่มเติมเมื่อมาเป็นสมาชิกธนาคารขยะรีไซเคิล

“พั้นซ์และเพื่อนๆ รวมกลุ่มกัน 6 คน ช่วยกันเก็บขวดน้ำพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม กระดาษเอสี่ กระดาษสมุด ที่มีในห้องเรียนและตามซุ้มต่างๆ รอบๆ โรงเรียนมาขาย รายได้ทั้งหมดจะหารเท่าๆ กันให้แต่ละคนได้เก็บไว้ใช้ต่อไปค่ะ เก็บขยะมีประโยชน์หลายอย่างค่ะ ได้ช่วยลดขยะในโรงเรียนและสังคม ได้รักษาความสะอาด และยังมีรายได้อีกด้วยค่ะ” น้องพั้นซ์เล่าอย่างสนุกสนาน

4-1 เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กๆ และบุคลากรในโรงเรียน ครูเฟิร์ส เล่าว่า “เด็กๆ มีความตระหนักมากขึ้นจากที่เห็นเพื่อนมีรายได้ ซึ่งตอนแรกพวกเขาอาจจะมองว่าขายขยะแต่ละครั้งได้เงินไม่มากมายอะไร แต่เมื่อรวมกลุ่มกันมากขึ้น หรือสะสมมากขึ้น มูลค่าก็มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นแรงจูงใจที่ดี ให้พวกเขาเห็นคุณค่าของการคัดแยกขยะ ส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี และสิ่งที่ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย คือ กลุ่มคุณครูที่ในกลุ่มสาระหมวดวิชาต่างๆ ซึ่งจะมีเอกสารกระดาษจำนวนมาก นำมาขายที่ธนาคารขยะแต่ละครั้งได้เงินเป็นหลักร้อยหลักพันเลยทีเดียว”

ดร.นพดล เด่นดวง ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) กล่าวว่า “ไม่ใช่แค่นักเรียนที่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ยังรวมถึงบุคลากรในโรงเรียน ในการช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อม โดยทุกคนจะตระหนักถึงปัญหาขยะและมีส่วนร่วมในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่อไปผมมองว่า เมื่อโรงเรียนเป็นผู้สอนให้เด็กได้เรียนรู้และมีจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว เขาจะมีส่วนในการบอกต่อและเป็นเครือข่ายในระดับครอบครัวและสังคมต่อไป เหมือนอย่างที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับเรา เมื่อร่วมด้วยช่วยกันเป็นเครือข่ายสังคมที่มีคุณภาพมากขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาขยะในประเทศไทยให้ลดน้อยลงได้”

รองศาสตราจารย์ ดร. กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายส่งเสริมการสร้างมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์ (Eco University) ที่มีเป้าหมายชัดเจนของการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ สหประชาติ (17 Sustainable Development Goods) ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบ ซึ่งโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ที่ดำเนินกับโรงเรียนเครือข่ายโดยมีเป้าหมายในการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาขยะในชุมชนและโรงเรียน มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ ทั้งการจัดเก็บ การแยกขยะ และการรีไซเคิลขยะ รวมถึงเกิดรายได้จากขยะ ซึ่งจากการติดตามและประเมินผล พบว่าทุกโรงเรียนล้วนต่างเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน”

595959859