สทนช. เร่งกฎหมายลูก 20 ฉบับ เคลื่อนทัพบริหารจัดการนํ้า 1.2 แสนล้าน

18 ต.ค. 2561 | 11:35 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จากร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. .... ที่ผ่านสภาวาระ 3 เรียบร้อยแล้ว ด้วยเสียงมติเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ หรือ สทนช. เป็นองค์กรที่มีกฎหมายรองรับตามโครงสร้างองค์การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า ที่ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ หรือ กนช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากนี้ต่อไป สทนช. จะมีการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไรบ้าง ... "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "สมเกียรติ ประจำวงษ์" เลขาธิการ สทนช. ถึงการบริหารจัดการนํ้าในช่วงระยะเวลาร่วม 1 ปี ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร และจะมีแผนการขับเคลื่อนอย่างไรต่อไปในช่วงงบประมาณปี 2562


เร่งกฎหมายลูกใน 1 เดือน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ร่างกฎหมายนํ้าผ่านสภาวาระ 3 ไปแล้ว ไม่ใช่ง่าย ๆ หากย้อนเวลามองกลับไปกว่า 20 ปีมาแล้ว แก้ร่างฯ กว่า 90 ครั้ง แม้ว่าทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะเป็นแบบนั้นหรือเป็นแบบนี้ แต่ด้วยความละเอียดอ่อนในเรื่องการใช้คำ มีผลมาก จะต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอน ต้องมองในอนาคต มีคำบางคำที่จะต้องบัญญัติคำนิยามขึ้นมาใหม่ เช่น ผังนํ้า ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ที่ผ่านมามีแต่ผังเมือง แต่วันนี้ผังนํ้าสำคัญ เพราะนํ้าเกิดขึ้นจากธรรมชาติต้องมีกลไกในการบริหารจัดการ

"สทนช. มีการวางแผน จะมีการจัดทำกฎหมายลำดับรอง หรือ ประกาศ หรือ กระทั่งออกพระราชกฤษฎีกากว่า 20 ฉบับ ซึ่งบางส่วนได้เตรียมการไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แผนดังกล่าวขับเคลื่อนในระยะเวลาที่กำหนดภายใน 1 เดือนนับจากนี้ จะทำโรดแมปออกมาต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการลุ่มนํ้า หรือ ประชาชนที่อยู่ในลุ่มนํ้าได้มีส่วนในการวางแผนร่วมกัน ซึ่งการมีกฎหมายนํ้าฉบับนี้จะทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดูแลการบริหารจัดการนํ้าของประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น"


Water

สำหรับเจตนารมณ์ของการออกร่างกฎหมาย ต้องการใช้นํ้าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น จะมีการศึกษาอย่างรอบคอบในหลักเกณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการเก็บค่านํ้า 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรนํ้า กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรนํ้าบาดาล มีอัตราการเก็บค่านํ้าที่มีมาตรฐานการเก็บค่านํ้าที่แตกต่างกัน เงินที่ได้มาก็เอาเข้าไปสู่กองทุน หรือ เข้ารัฐบาลแตกต่างกัน ดังนั้น ทาง สทนช. จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดค่านํ้าที่จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน แต่อัตราในแต่ละพื้นที่ แต่ละนํ้าที่อยู่ในแต่ละส่วนอาจจะไม่เหมือนกัน เพื่อสร้างมาตรฐานและให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

"ถ้าพูดถึงเรื่องความสำเร็จ ก็ยังพูดไม่ได้เต็มที่ แต่เมื่อเราเดินออกจากฝั่งแล้ว ก็เดินไกลออกจากฝั่งพอสมควร ถามว่าเป้าหมายอยู่อีกไกลหรือไม่ กว่าจะไปไกลถึงฝั่งก็คงอีกนานพอสมควร ที่เป็นรูปธรรมมาก ๆ ก็คือ เป็นฝั่งเป็นฝา เป็นปึกแผ่นมากขึ้น จากมาคนเดียวเพิ่มเป็น 100 คน 150 คน และภายในสิ้นปีคาดว่าจะถึง 300 คน (พนักงาน/เจ้าหน้าที่ของ สทนช.) ต่อไปแผนยุทธศาสตร์นํ้าจะเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น "แผนแม่บทนํ้า" ออกมาประมาณเดือน พ.ย. แล้วจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณเดือน ธ.ค. เป็นแผนแม่บทนํ้าให้ครอบคลุมแผน 20 ปี รวมทั้งปรับตัวชี้วัดใหม่ เช่น สร้างเขื่อน 1 เขื่อน ประชาชนได้อะไรบ้าง โดยจะปรับรูปแบบเพื่อไปสู่การขับเคลื่อนโครงการ"


ลุยบิ๊กดาต้าข้อมูลนํ้า
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทุกคน ทุกหน่วยงาน ที่เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ จะทำตามข้อจำกัด หรือ ทำตามระเบียบของหน่วยงานเป็นหลัก เนื่องจากยุทธศาสตร์นํ้าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของข้อมูล แต่ละคนต่างก็มีข้อมูลของตัวเอง แต่ข้อมูลที่ว่านี้มีการเก็บรักษาข้อมูลแตกต่างกันไป และข้อมูลที่ได้มาก็มีการวิเคราะห์ที่แตกต่าง แต่พอมาอยู่หน่วยงานกลางจะต้องออกแบบงานมาตรฐาน เช่น ควรจะเก็บข้อมูลช่วงไหน เป็นต้น จะเห็นว่าข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก จะต้องมีระบบจัดเก็บ เป็นอีกเรื่องสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2562

 

[caption id="attachment_332899" align="aligncenter" width="503"] สมเกียรติ ประจำวงษ์ สมเกียรติ ประจำวงษ์[/caption]

"โชคดีที่บริหารจัดการนํ้ามาร่วม 1 ปี ไม่มีปัจจัยแทรกมาจากการเมือง จะต้องทำให้เร็ว รู้เรื่องก่อน แล้วตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลจริง และตามหลักวิชาการจริง ๆ เรื่องข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมาก ต่อไป สทนช. จะมีสำนักงานภูมิภาค คาดว่าจะมีบุคลากรประจำภูมิภาคเพิ่มอีกประมาณ 300 อัตรา จะมีลักษณะของการผ่องถ่ายระดับนโยบายไปสู่ระดับพื้นที่ เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม"

ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ มีคำขอโครงการมาร่วม 200 โครงการ ทางนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สทนช. ได้พิจารณา กลั่นกรองแผนงาน ให้มีประสิทธิผลมากที่สุด โดยจะนำแผนงาน/โครงการต่าง ๆ มาวางกรอบงบประมาณของแผนงาน บูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า ปี 2562 วงเงินงบประมาณ 1.28 แสนล้านบาท

"จากนี้ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเข้ามาบริหาร สทนช. เดินด้วย 3 เสาหลัก เสาแรก คือ แผนยุทธศาสตร์นํ้า หรือ ต่อไปจะ
เรียกแผนแม่บทนํ้า 20 ปี แผนนี้จะนำเข้า ครม. เพื่อให้พิจารณาให้ความเห็นชอบประมาณเดือน ธ.ค. 2.เมื่อเป็นกฎหมาย
การจะไปรื้ออะไรก็ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการลุ่มนํ้าและประชาชน ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมแล้ว ยากที่จะไปล้ม และ 3.เรื่องขององค์กร นอกจากจะมีคณะกรรมการนํ้าแห่งชาติ (กนช.) แล้ว ยังมีฝ่ายเลขานุการ สทนช. ต่อไป กระบวนการตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ เมื่อมีองค์ประกอบ 3 ส่วนที่กล่าวมา จะทำให้การบริหารทรัพยากรนํ้าประสานสอดคล้องกันในทุกมิติ


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,410 วันที่ 18 - 20 ตุลาคม 2561

595959859