ธุรกิจตามหนี้ชิงออร์เดอร์งานพุ่ง กฏหมายใหม่เข้มเขี่ยรายเล็กถอดใจ

12 ก.พ. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ธุรกิจติดตามหนี้โดดรับออร์เดอร์งานปีนี้พุ่งพรวด 20% หลังกม.ทวงหนี้บังคับใช้กระเทือนรายเล็กกว่า 20 รายผันตัวหนีไปทำธุรกิจอื่น เหตุทุนน้อยปรับตัวสู้ไม่ไหว ค่ายยักษ์ JMT ระบุปีนี้ตลาดเปลี่ยน ทั้งผู้จ้าง-ผู้รับจ้างติดตามหนี้ต่างคนต่างมีโอกาสเลือก ด้านผู้บริหาร บ.ติดตามหนี้เผยกลุ่มค้างชำระแบกหนี้นอกระบบด้วย ขณะที่ล่าสุดกลุ่มโรงพยาบาล- บ.วัสดุก่อสร้างวิ่งทาบจ้างตามหนี้

นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานชมรมผู้ติดตามเร่งรัดหนี้สินโดยวิธีที่เป็นธรรม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวโน้มปริมาณงานติดตามหนี้ในปี 2559 ว่า มีปริมาณงานติดตามหนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยยังอยู่ในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลเอกชน 1-2 แห่ง ที่เข้ามาทาบทามให้ติดตามหนี้ให้ เป็นหนี้ค้างชำระที่ผู้ป่วยที่มาใช้บริการจากโรงพยาบาลยังชำระไม่หมด

แต่ทางโรงพยาบาลไม่มีบุคลากรในการติดตาม จึงต้องจ้างบริษัทติดตามหนี้เพื่อติดตามหนี้ดังกล่าวให้วงเงินรวมแล้วหลักร้อยล้านบาท แต่ทางบริษัทเห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้ที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคจึงไม่ได้รับงานดังกล่าวไว้ นอกจากนี้ยังมีร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่สนใจให้ติดตามหนี้ แต่บริษัทก็ปฏิเสธไปแล้วเช่นกัน เพราะขณะนี้งานที่รับตามหนี้ให้สถาบันการเงินล้นมือแล้ว

"แต่ละปีปริมาณงานติดตามหนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 10% แต่ปีนี้เพิ่มขึ้น 20% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพ.ร.บ.ทวงถามหนี้ที่มีผลบังคับใช้แล้ว และมีผลให้การติดตามทวงถามหนี้ทำได้ยากขึ้น ทำให้สถาบันการเงินพยายามผลักงานออก อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจทำให้มีลูกหนี้บางกลุ่มชะลอการจ่ายเงินไว้ก่อน อาทิ พนักงานด้านการตลาดที่เคยได้รับค่าคอมมิชชัน จากเดิมที่จะชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข แต่เริ่มมีการชะลอการชำระออกไปก่อน นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ ยังพบว่าลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกือบ 100% เป็นหนี้นอกระบบด้วย"

นายวิเชียร ชุบไธสง กรรมการผู้จัดการ บริษัทสำนักกฎหมาย CAL จำกัด กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า ปริมาณงานติดตามหนี้เพิ่มขึ้นทุกเดือนมาโดยตลอด ขณะที่ปีนี้เมื่อเทียบปริมาณบัญชีที่สถาบันการเงินส่งให้ติดตามหนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 20% โดยเฉพาะงานติดตามหนี้ที่รับจากสถาบันการเงินซึ่งยังมีหนี้เก่าที่ค้างชำระอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งหนี้ที่ไหลไปสู่กลุ่มหนี้ที่ค้างชำระเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มที่ค้างชำระเกิน 30 วัน ,ค้างชำระเกิน 60 วัน และค้างชำระเกิน 90วัน นอกจากนี้ยังพบว่าสถาบันการเงินมีการขายหนี้ให้บริษัทที่รับติดตามหนี้ และบริษัทบริหารสินทรัพย์มากขึ้น เพราะต้องการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ลง

นอกจากนั้น ในปีนี้มีบริษัทยังได้รับงานตามหนี้ให้กับบริษัทไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ต่างประเทศ 2 แห่ง ที่เข้ามาติดต่อให้รับติดตามหนี้ให้ เป็นหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล จากเดิมที่บริษัทรับติดตามหนี้ให้สถาบันการเงินทั้งหมด 10 กว่าแห่ง

ด้านนายณรงค์เดช วรสารนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นแอนด์เอฟ มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า จากยอดที่บริษัทติดตามหนี้ได้(ต่อหนึ่งธนาคาร) ในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ 20 ล้านบาท เทียบกับเดือนมกราคมปีก่อนซึ่งติดตามหนี้ได้ 15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 30% โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคมนี้จะเห็นยอดการติดตามหนี้ได้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่บริษัทได้รับเช็คจากการอายัดเงินเดือนของลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้ซึ่งมีการฟ้องคดีไปแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกค้าได้รับโบนัสทำให้มีปริมาณเช็คในส่วนนี้เข้ามาชำระหนี้ ทำให้ยอดติดตามหนี้ในช่วงนี้ค่อนข้างดี

นายณรงค์เดช ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้บริษัทรับติดตามหนี้ประสบปัญหาเหมือนกันคือขาดแคลนบุคลากร ทำให้หลายที่ไม่สามารถรับงานใหม่เพิ่มขึ้นได้ เช่นเดียวกับกรณีของบริษัทเอ็นแอนด์เอฟฯ ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรในการติดตามหนี้ 200 คนแต่ก็ไม่เพียงพอกับงานตามหนี้

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวิร์ค เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน)หรือ JMT เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทจะรักษาสัดส่วนในการรับจ้างติดตามหนี้ไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่จะรุกซื้อหนี้มาบริหารโดยมีเป้าหมายรับซื้อหนี้ที่ 2 หมื่นล้านบาท ใช้งบประมาณในการซื้อหนี้ 1 พันล้านบาท ทำให้สัดส่วนพอร์ตรับซื้อหนี้มาบริหารและการรับจ้างติดตามหนี้เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันที่ 85: 15 เป็นสัดส่วน 90 : 10

ปีนี้ค่าธรรมเนียมในการบริการติดตามหนี้น่าจะลดลง จึงรักษาสัดส่วนรับจ้างติดตามหนี้ไว้ไซซ์เท่าเดิม และไม่เพิ่มบุคลากรในส่วนของการติดตามหนี้จากที่มีอยู่ 1 พันราย แต่บริษัทจะเน้นเพิ่มรายได้จากการซื้อหนี้มาบริหาร และเน้นเรื่องของการบริหารจัดการพอร์ตการติดตามหนี้แทน โดยจะรับเพิ่มบุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดสรรข้อมูลสนับสนุนให้กับทีมติดตามหนี้จากปัจจุบันที่มีบุคลากรอยู่ 20 คน จะเพิ่มเป็น 50 คน เนื่องจากขณะนี้ต้องดูแลบัญชีถึง 2 ล้านบัญชี

"ธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้ ปีนี้เป็นช่วงที่ตลาดเปลี่ยน เป็นเกมที่เดิน 2 ฝ่าย ทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้างต่างคนต่างมีโอกาสเลือก ใครให้ผลตอบแทนสูงก็จะได้การติดตามหนี้ที่ใกล้ชิดและมากขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันคาดว่าปริมาณงานตามหนี้ก็จะยังเพิ่มขึ้น มาจากตัวเลือก(บริษัทที่รับจ้างติดตามหนี้)ที่น้อยลง เนื่องจากผลจาก พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ทำให้บริษัทรับติดตามหนี้ต้องพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพระดับมาตรฐาน ต้องมีทุน มีเน็ตเวิร์ก ใครไม่มีเงินทุนต่อไปนี้ทำไม่ได้ เห็นได้จากตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว มีผู้ที่เคยรับจ้างติดตามหนี้ซึ่งเป็นบริษัทรายเล็กๆ ต้องยกเลิกไปแล้วมากกว่า 20 รายหันไปทำธุรกิจอื่นแทน เพราะปรับตัวไม่ได้"นายปิยะกล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 โดยสาระสำคัญของกฎหมาย อาทิ ห้ามมิให้ผู้ทวงถามหนี้ ติดต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงได้เฉพาะลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเท่านั้น เว้นแต่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสถานที่ติดต่อลูกหนี้ ,ห้ามมิให้ผู้ทวงถามหนี้ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี หรือเปิดเผยความเป็นหนี้ของลูกหนี้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ,ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง และก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ,ห้ามติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน ,ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ บทกำหนดโทษของ พ.ร.บ.ดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โทษทางปกครองจะถูกปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ตามมาตรา 24 และทางอาญาจะถูกเพิกถอนการจดทะเบียน และจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559