อนิจจา ... อุตสาหกรรมเหล็กไทย

20 พ.ค. 2561 | 11:17 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

56965845

WR3

ถ้าจะกล่าวถึงอุตสาหกรรม "เหล็ก" ต้องบอกว่า เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่รัฐบาลทุกประเทศให้ความสำคัญ เพราะเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง  อาวุธ ฯลฯ ขณะที่ บางประเทศก็อ้างว่า อุตสาหกรรมเหล็กต้องปกป้อง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ!

ย้อนไปดูปูมหลังการส่งเสริม-พัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย จะพบว่า เมื่อ 20-30 ปีก่อน การลงทุนจะคึกคักมาก เพราะตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ฯ ข้อหนึ่งกำหนดว่า ประเทศไทยต้องมีเหล็กต้นน้ำหรือที่เข้าใจกันง่าย ๆ คือ ต้องมีโรงถลุงเหล็กในประเทศ ทำให้กลุ่มทุนรายเล็ก-ใหญ่แห่ลงทุน เพราะหวังว่าวันหนึ่งเราจะมีโรงถลุงเหล็กเกิดขึ้น ไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ที่แต่ละปีมีราคาผันผวน ไม่แน่นอนสูง

เช่นเดียวกับ บรรดาเสี่ยวงการเหล็ก โดยเฉพาะกลุ่มทุนรายใหญ่ผู้บุกเบิก ที่เคยแอบหวังว่าจะได้ร่วมกับรัฐบาลตั้งโรงถลุงเหล็กภายในประเทศไทย ไม่ว่าจะ เสี่ยวิทย์ วิริยประไพกิจ จากกลุ่มสหวิริยา หรือ SSI, เสี่ยสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เจ้าของฉายา "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ที่วันนี้ยอมยกธงขาวขายทิ้งธุรกิจเหล็กกลุ่มเอ็น.ที.เอส.สตีล หลังเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง รวมถึง เสี่ยสมศักด์ ลีสวัสดิ์ตระกูล แม้จะมาทีหลัง 2 กลุ่มทุนแรก แต่ก็ทันเจอพิษต้มยำกุ้ง ที่ล่าสุดดึงกลุ่มทุนฮ่องกงเข้ามาถือหุ้นใน บริษัท จี สตีล และจีเจสตีล ประคับประคองธุรกิจเหล็กต่อไป โดยให้อินเดียนั่งบริหาร


WR1

รัฐอุ้มมาแต่กำเนิด
นอกจากเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กสะพัดแล้ว โดยภาพรวมยังได้รับการคุ้มครอง ปกป้องจากรัฐบาลในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะเชอร์ชาร์จหรือค่าธรรมเนียมพิเศษจากบีโอไอ (ที่จะใช้ในช่วงที่ ก.ม.เอดี ยังไม่ออกมา) เรียกว่า อุ้มมาตั้งแต่ตั้งไข่ รวมถึงในขณะนั้นยังมีกำแพงภาษีอากรขาเข้าเป็นเกราะกำบังอีก (ปัจจุบันค่อย ๆ ลดลงกรอบการค้าเสรี หรือ FTA) ยังไม่นับรวมการคุ้มครอง โดยมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดีที่ออกมาปกป้องเหล็กบางชนิดในช่วงเวลาต่อมา

การเติบโตในอุตสาหกรรมเหล็กไม่เพียงแต่กลุ่มทุนรายใหญ่ที่กระโจนเข้าหา หากยังมีรายเล็ก รายย่อย อีกจำนวนมาก แห่ลงทุน โดยเฉพาะการผลิตเหล็กเส้น


WR2

อุตฯเหล็กท่าดีทีเหลว
ประมวลภาพรวมทั้งหมด อุตสาหกรรมเหล็กน่าจะดี คนแห่ลงทุนกันมาก แถมมีรัฐบาลคอยปกป้อง จนมีบางคนในภาคธุรกิจถึงกับเอ่ยปากว่า "เหล็ก" ก็เหมือนอุตสาหกรรมเฒ่าทารก ที่รัฐบาลอุ้มไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งที่ 20-30 ปีที่ผ่านมา น่าจะยืนหยัดอยู่ได้แบบแข็งแกร่ง!

แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กของไทยในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ได้สะท้อนถึงปัญหารอบด้านชัดเจน ไล่เรียงตั้งแต่ ความไม่จริงจังในการยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กของภาครัฐในแต่ละรัฐบาล

อีกทั้งปริมาณเหล็กเส้น ภายในประเทศอยู่ในสภาพ "ล้นตลาด" เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศมีเพียง 2-3 ล้านตันต่อปี ขณะที่ กำลังผลิตรวมมีมากถึง 9 ล้านตัน เช่นเดียวกับ กลุ่มเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีกำลังผลิตรวม 9 ล้านตัน และเหล็กแผ่นรีดเย็นมีกำลังผลิต 2 ล้านตัน รวมกลุ่มเหล็กแผ่นทั้งสิ้น 11 ล้านตัน ลำพังผู้ผลิตในประเทศก็สามารถป้อนตลาดภายในได้อย่างเพียงพอ เพราะมีความต้องการใช้ต่อปีราว 9 ล้านตัน แต่กลับมีเหล็กนำเข้า จากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศอื่น ๆ มาชิงส่วนแบ่งตลาดไปอีกจำนวนมาก แม้มีมาตรการเอดีปกป้องก็ยังยับยั้งไม่อยู่ โดยเฉพาะเหล็กจากจีนที่เข้ามาสร้างปรากฏการดั๊มราคาแบบสุดโต่งในเหล็กเกือบทุกประเภท จนผู้ผลิตไทยแต่ละรายตกอยู่ในสภาพที่ผลิตได้ไม่ถึง 40 หรือ 50% ของกำลังผลิตเต็ม เรียกว่า แบกภาระขาดทุนกันเป็นแถวก็ผ่านมาแล้ว

อีกทั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประธานาธิบดี 'โดนัลด์ ทรัมป์' แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้ประกอบการผลิตและส่งออกเหล็ก ต้องสูญเสียการส่งออกเหล็กไปยังอเมริกาในมูลค่า 10,479 ล้านบาท หรือเป็นปริมาณเหล็กราว 383,496 ตัน โดยผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นรีดเย็นและเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี


WR4

ปี 63 ยอดผลิตพุ่ง 32.3 ล้านตัน/ปี
ที่น่าซ้ำใจที่สุด ... อุตสาหกรรมเหล็กไทย ที่เคยผงาดทั้งในแง่ผู้บริโภคและผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียน กลับต้องตกหลังเสือแบบไม่เป็นท่า เมื่อถูกเวียดนามแซงหน้าไปแล้ว หลังจากที่รัฐบาลเวียดนามกำหนดแผนพัฒนาไว้ถึงปี 2578 ที่จะขยายความสามารถในการเป็นฐานการผลิตเหล็กอาเซียนภายในปี 2563 ว่า จะมีกำลังผลิตเหล็กในประเทศเวียดนามเพิ่มจาก 20 ล้านตันต่อปี เป็น 32.3 ล้านตันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 66 ล้านตันในปี 2578 โดยรัฐบาลเวียดนามเริ่มต้นสนับสนุนด้วยการส่งเสริมให้มีการผลิตเหล็กต้นน้ำภายในประเทศ มีแผนจัดตั้งเตาถลุงเหล็กขนาดใหญ่มากกว่า 6 เตา มีขนาดกำลังผลิตเหล็กต้นน้ำ 24 ล้านตันในอนาคต ลงทุนโดย บริษัท ฟอร์โมซากรุ๊ปส์ฯ (FORMOSA) ผู้ผลิตเหล็กและปิโตรเคมีรายใหญ่ของไต้หวัน ร่วมกับ เจเอฟอี จากญี่ปุ่น และกลุ่มพอสโก ประเทศเกาหลี มีการผลิตเหล็กเฟสแรกที่ 7 ล้านตัน เริ่มผลิตเหล็กไวรอตได้เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา

เปรียบเทียบกับการส่งเสริมของไทย หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า เปลี่ยนรัฐบาลทีก็ดึงเรื่องแผนพัฒนาเหล็กต้นน้ำไปศึกษาที ทำอยู่แบบนี้ติดต่อมาหลายสมัยแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะประเด็นพิจารณายังวน ๆ อยู่เรื่องเดิม ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดหาพื้นที่ตั้งโรงถลุงเหล็ก เสียงต้านจากชาวบ้านและเอ็นจีโอ รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่น่าจะช่วยได้ในแง่ลดต้นทุนในการขนส่ง ลำเลียงเหล็ก เป็นต้น


626525

หากใช้เวลาประเมินภาพรวมให้ดี การมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำน่าจะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ เพราะการมีโรงถลุงเหล็กในประเทศเพื่อผลิตวัตถุดิบ เช่น สแลป (วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน) บิลเล็ต (วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กทรงยาวเช่น เหล็กเส้น) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศ จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กครบวงจร (Fully Integrated Steel Industry) ที่สามารถผลิตสินค้าวัตถุดิบต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ

ที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาความผันผวนด้านราคาวัตถุดิบ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตในประเทศมีความสามารถในการแข่งขันด้านตันทุนกับเหล็กนำเข้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบต้นทาง สำหรับการผลิตเหล็กชั้นคุณภาพพิเศษ (Special Grade) ที่ส่วนใหญ่ใช้นำไปใช้ในการผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นเรื่องความปลอดภัยได้อีกสุดท้ายผู้บริโภคปลายทางน่าจะได้ประโยชน์ด้วยเพราะใช้สินค้าที่มาจากเหล็กในราคาถูกลง

วิบากกรรมอุตสาหกรรมเหล็กช่างยาวไกลนัก! วันนี้เดินมาถึงจุดล้าหลัง ถูกเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามปาดหน้า ชิงความได้เปรียบไปแล้ว อนิจจา....อุตสาหกรรมเหล็กไทย!


........................
รายงาน : อนิจจา....อุตสาหกรรมเหล็กไทย | โดย.....TATA007 |ฐานเศรษฐกิจ|


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว