สานเสียงย้ำความมั่นใจสินค้ากุ้งไทยมีมาตรฐานคุณภาพปลอดภัย

21 ก.พ. 2560 | 11:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย แจงข้อเท็จจริงการตรวจพบสารตกค้างของสินค้ากุ้งไทยในสหรัฐฯ ย้ำ สินค้ากุ้งไทยมีมาตรฐานคุณภาพปลอดภัย เข้มกระบวนการควบคุมสินค้าสัตว์น้ำส่งออกตลอดสายการผลิต

นายอดิศร  พร้อมเทพ  อธิบดีกรมประมง  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวกรณีที่มีข่าวว่า สินค้ากุ้งไทย ถูกสหรัฐอเมริกา ปฏิเสธการนำเข้าในช่วงเดือน ม.ค. จำนวน 5 รายการ ด้วยเหตุที่ว่ามีตรวจพบสารไนโตรฟูราน (Nitrofurans)ปนเปื้อนว่า  ขณะนี้สหรัฐอเมริกาไม่ได้แจ้งให้ประเทศไทยดำเนินการใดๆ เนื่องจากหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้าประมงของสหรัฐอเมริกา จะมีระบบการควบคุมมาตรฐานโรงงานแปรรูป ที่ดำเนินการโดยหน่วยงาน The United States Food and Drug Administration (USFDA)ของสหรัฐฯเอง ไม่ได้มอบหมายให้หน่วยงานราชการของประเทศผู้ส่งออกทำหน้าที่กำกับดูแลแทน ดังนั้น โรงงานที่ประสงค์จะส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ต้องจดทะเบียนและจัดทำระบบการควบคุมความปลอดภัยในการผลิตอาหารตามระบบ Hazards Analysis and Critical Control Point (HACCP) หลังจากนั้หน่วยงาน USFDA จะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจโรงงาน หากผลการตรวจฯ ผ่านมาตรฐาน โรงงานก็สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายยังสหรัฐฯได้ โดยไม่ต้องมีใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) จากหน่วยงานราชการของประเทศผู้ส่งออกกำกับไป

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสัตว์น้ำส่งออก ได้มีการตรวจสอบหาสาเหตุข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่า ผู้นำเข้าของบริษัทณรงค์ซีฟูด จำกัด ได้แจ้งขอกลับเข้ามาสู่มาตรการตรวจสอบตามปกติ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ USFDA หลังจากเคยถูกปฏิเสธการนำเข้าไป 1 รายการ เมื่อปี 2559 ซึ่งตามมาตรการของสหรัฐอเมริกากำหนดให้ต้องตรวจสอบสินค้าจำนวน 5 รุ่นอย่างต่อเนื่อง หากไม่พบปัญหาก็จะกลับเข้าสู่ระบบการตรวจสอบตามปกติ ทั้งนี้ สินค้าของบริษัทฯ ได้ผ่านการสุ่มตรวจ จำนวน 11 รุ่น ติดต่อกันแล้ว

สำหรับสินค้าที่เป็นปัญหาทั้ง 5 รุ่นนั้น มิได้รับการตรวจสอบว่า พบสารตกค้างไนโตรฟูรานแต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิเสธการนำเข้า เนื่องจากสินค้ากุ้งทั้ง 5 รุ่น เป็นสินค้าตัวอย่างส่งให้กับลูกค้าในสหรัฐอเมริกาทดสอบก่อนมีคำสั่งซื้อ และ USFDA อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับสถานะการตรวจสอบเข้าสู่มาตรการตรวจสอบตามปกติ  ทำให้สินค้าดังกล่าวยังอยู่ในมาตรการเฝ้าระวังซึ่งจะต้องถูกกักกันเพื่อตรวจวิเคราะห์ตามมาตรการที่สหรัฐอเมริกากำหนด แต่ด้วยเหตุผลที่ผู้นำเข้าจะต้องรับผิดชอบค่าตรวจวิเคราะห์และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการเก็บสินค้าเอง ดังนั้น ผู้นำเข้าสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าดังกล่าว จึงได้แจ้งขอทำลายสินค้ากุ้งทั้ง 5 รายการ อย่างไรก็ตาม ข้อปฏิบัติของสหรัฐฯเมื่อมีการทำลายสินค้าหรือปฏิเสธการนำเข้า เจ้าหน้าที่ต้องระบุสาเหตุของการทำลายสินค้าหรือปฏิเสธการนำเข้า และประกาศเป็น Import Alert ดังนั้น สินค้าค้ากุ้งแช่เยือกแข็งทั้ง 5 รุ่นของบริษัทฯ จึงถูกประกาศว่าถูกปฏิเสธการนำเข้า เนื่องจากตรวจพบไนโตรฟูราน ตามที่เคยมีประวัติในรุ่นปี 2559 ไปโดยปริยาย

"กระทรวงเกษตรฯ มั่นใจว่า สินค้ากุ้งของไทยนั้นมีมาตรฐานคุณภาพอาหารปลอดภัย เนื่องจากมีกระบวนควบคุมสินค้าสัตว์น้ำส่งออกตลอดสายการผลิต ได้แก่ มาตรฐานการปฏิบัติทางการประมงที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (GAP)  มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์ฯสำหรับโรงงานแปรรูป และมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกษ.) ของกุ้งแช่เยือกแข็ง ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินการควบคุมของกรมประมง อีกทั้งมีความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (พลเอก ฉัตรชัย  สาริกัลยะ) ที่มุ่งหมายให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเกษตรเป็นสำคัญ อาทิ จัดประชุมหารือร่วมกันกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งและสมาพันธ์เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งไทย เพื่อกำหนดแนวทางในการควบคุมการใช้ยาและสารเคมีต้องห้ามที่ผิดกฎหมาย และกำหนดให้โรงงานต้องรับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำจากฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองเท่านั้น อีกทั้งย้ำเตือนเกษตรกรเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP การห้ามใช้ยาและสารเคมีต้องห้ามในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และแจ้งถึงมาตรการลงโทษตาม พ.ร.ก.การประมง ฉบับใหม่ด้วย"

ด้าน ดร.พจน์  อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกกุ้งไทย สูงเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 45 รองลงมา ได้แก่ ตลาดญี่ปุ่น ร้อยละ 22 และสหภาพยุโรป ร้อยละ 15 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ มีมาตรการให้โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่เป็นสมาชิกสมาคมเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสัตว์น้ำที่รับเข้ามาผลิต โดยจะมีการตรวจวิเคราะห์สารปฏิชีวนะก่อนรับซื้อวัตถุดิบอยู่แล้ว และมีการตรวจสอบคุณภาพในกระบวนการผลิตด้วย ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าจากมาตรการที่เข้มงวดของการดำเนินการดังกล่าว ประกอบกับระบบตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของกรมประมงที่มีมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือของประเทศคู่ค้า จะยังคงสามารถการันตีคุณภาพสินค้าประมงของไทยให้เป็นที่มั่นใจของผู้บริโภคได้