สศอ.ชี้สัญญาณเศรษฐกิจฟื้น การใช้กำลังผลิตพุ่งเหนือ70%นักลงทุนรายใหญ่จ่อลงอีอีซี

11 ม.ค. 2560 | 11:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สศอ.ประเมินเศรษฐกิจปี 60 ฟื้นชัดเจน ดันอัตราการใช้กำลังการผลิตพุ่งเหนือ 70 % การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบกลับมาเป็นบวก สะท้อนให้เห็นยอดคำสั่งซื้อสินค้ามีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการลงทุนรายใหญ่ของโลก แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ใน 10 กลุ่มเป้าหมาย

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการประเมินแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในปี 2560 น่าจะมีการฟื้นตัวให้เห็นได้อย่างชัดเจน ที่จะชี้วัดได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม มีทิศทางที่ดีต่อเนื่องจากปี 2559 โดยมองว่าจะขยายตัวไปสู่ระดับเหนือ 70 % ได้ในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ จากปีก่อนที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังไม่ดีมากนักหรือต่ำกว่าระดับ 70 % ลงมาค่อนข้างมาก เป็นการบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก

ทั้งนี้ การประเมินภาพดังกล่าว เนื่องจากมีสัญญาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีก่อน ในระดับ 1.2 % ตุลาคม ขยายตัว 5.7 % และพฤศจิกายน ระดับ 14.3 %และคาดว่าในเดือนธันวาคมน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก และจะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าทุนกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนธันวาคม จาก 11 เดือน ติดลบ 2.1 % เมื่อเทียบกับปี 2558 ทั้งปี ติดลบที่ 7.6 %

“การนำเข้าสินค้าทุนและกึ่งสำเร็จรูป เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ประกอบการมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น และมีการสั่งวัตถุดิบฯ เข้ามาผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่องในเดือนถัดๆไป จากยอดคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่มีเข้ามา หากสัญญาณยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะส่งผลให้ต้นปี 2560 อัตราการใช้กำลังการผลิตจะขยายตัวเหนือระดับ 70% ได้ จากเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 66.71 % เท่านั้น”

นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนภาวการณ์ลงทุนในปี 2560 นั้น ในส่วนของสศอ.ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการร่วมกับกระทรวงเกี่ยวข้องต่างๆ ให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรม 20 ปี โดยเฉพาะการชักชวนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งจะต้องจัดทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาให้ได้ในรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าการแก้ไขปัญหาอุปสรรค กฎระเบียบทางข้อกฎหมายต่างๆ ในการสนับสนุนหรือเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนได้อย่างไร

ที่สำคัญการเดินสายสอบถามความต้องการของนักลงทุน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการว่าจะยังต้องการสิทธิประโยชน์อะไร หรือต้องการให้แก้ไขอุปสรรคด้านการลงทุนในแง่ไหน รับฟังมาแล้วนำมาปฏิบัติให้ได้ เพื่อให้เกิดการลงทุนที่แท้จริงใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ได้ ยกตัวอย่างกรณี ของรถยนต์ไฟฟ้า ที่ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ อยู่ระหว่างการจัดทำสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนอยู่ ทางบริษัทค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในช่วงแรกไม่ต้องเก็บภาษีนำเข้าได้หรือไม่ เพื่อที่จะนำเข้ามาทำตลาดในระยะแรกก่อน และหลังจากนั้นเมื่อตลาดตอบรับหรือสามารถแข่งขันได้ ค่ายรถยนต์ก็จะเริ่มลงทุนในสายการผลิต เป็นต้น ขณะที่หลายอุสาหกรรม ก็มีข้อเสนอต่างๆ ที่แตกต่างกันไป

“เท่าที่หารือกับนักลงทุนรายใหญ่ของโลก ได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นจำนวนมากและอยู่ระหว่างตัดสินใจที่จะมาลงทุนในพื้นที่อีอีซีเป็นพิเศษ และล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่เม็ดเงินลงทุนหลายพันล้านบาทขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ หุ่นยนต์ อากาศยาน การแพทย์สมัยใหม่ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ได้เข้ามาศึกษาและดูลู่ทางการลงทุนไว้แล้ว รวมทั้ง นักลงทุนไทย ก็มีความสนใจค่อนข้างมาก ที่จะลงทุนในกลุ่มปิโตรเคมี ไบโอชีวภาพ โลจิสติกส์ บรรจุภัณฑ์ รวมเม็ดเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้น จะต้องมีแผนปฏิบัติที่ชัดเจนและเพิ่มเติมมาตรการสนับสนุนเป็นพิเศษ เพื่อที่จะดึงนักลงทุนเข้ามาในปีนี้ให้ได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม พ.ศ.2560