ใช้ประสบการณ์เอกชน ยกเครื่อง 3 กรมฯพาณิชย์

08 ม.ค. 2560 | 07:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

หลังปรับคณะรัฐมนตรี "ประยุทธ์4" โยกสุวิทย์ เมษินทรีย์ มือขวาของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดโอกาสให้"สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" อดีตที่ปรึกษาของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม(อรรชกา สีบุญเรือง) มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์แทน

สำหรับ "สนธิรัตน์" เคยผ่านงานทั้งภาครัฐ เอกชน และงานด้านการเมืองมาอย่างโชกโชน โดย"สนธิรัตน์"ได้ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" หลังรับตำแหน่งและได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล 3 กรมใหญ่ ได้แก่ กรมการค้าภายใน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ถึงทิศทางการทำงานที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

 เน้นดูแลค่าครองชีพ

"สนธิรัตน์" เผยว่า การกำกับดูแลกรมการค้าภายในจะเน้นเรื่องการดูแลค่าครองชีพ เพราะถือว่าเป็นหัวใจหลักของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้มอบหมายให้มีการจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบต้นทุนและราคาสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันพืช น้ำตาล อาหารจานด่วน เป็นต้นโดยให้เปรียบเทียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อมาใช้ในการจัดทำกรอบการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนต่อไป

"การที่ประชาชนมองว่าของแพง ต้องตรวจสอบดูว่าแพงจริงหรือไม่ หรือเป็นความรู้สึก เมื่อได้ดูตารางเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านก็จะชัดเจนว่าราคาสินค้าพื้นฐานของไทยสมเหตุสมผลหรือไม่"

 หารืออุตฯลดงานทับซ้อน

นอกจากนี้ยังได้เตรียมหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อบูรณาการการทำงานในการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)เพื่อลดงานที่ซ้ำซ้อนกัน และประหยัดงบประมาณ จากเดิมจะพบว่า 3 หน่วยงานยังมีการทำงานที่ทับซ้อนกันอยู่มาก หากมีโครงการใหม่ก็จะดูว่าจะลดความทับซ้อนกันในส่วนใดได้บ้าง แต่ถ้าเป็นโครงการเดิมที่ทำอยู่แล้วก็ให้ทำต่อเนื่องไป

 เข็นSMEs-ทรัพย์สินทางปัญญา

ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มอบหมายให้อธิบดีฯ รวบรวมโครงการและแผนงานที่มีอยู่ในการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี และผลักดันอี-คอมเมิร์ซให้แข็งแกร่ง เพราะกระทรวงพาณิชย์ดูในส่วนของปลายน้ำคือตลาด ซึ่งหากสอบถามเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่าครึ่งหนึ่งจะตอบว่ามีปัญหาด้านการเงิน รองลงมาคือปัญหาด้านการตลาด ส่วนนี้ต้องไปผลักดันและพัฒนาให้ทันกับยุคสมัย ส่วนกลางน้ำเป็นหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม คือการส่งเสริมเอสเอ็มอี ดูมาตรฐานการผลิต เป็นต้น ส่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา มอบหมายให้ดูมาตรฐานอาเซียนเทียบกับไทยว่าต้องปรับเพิ่มอย่างไร โดยเฉพาะลดเวลาการพิจารณาให้มีการอนุมัติการจดทะเบียนด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้เร็วขึ้น รวมถึงเตรียมหารือแนวทางลดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยด้วย

 ทำงานเชิงรุกเน้นลงพื้นที่

"หลังจากนี้จะเน้นลงพื้นที่ให้มากขึ้นเพื่อสัมผัสและรับทราบปัญหาอุปสรรค และนำมาปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยต่างจังหวัดจะขับเคลื่อนผ่าน มินิ ม็อค (Mini Moc)หรือกระทรวงพาณิชย์ย่อยระดับภูมิภาค 7 ภูมิภาค และวัดผลงานทุก 3 เดือน โดยภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้น่าจะมีการชัดเจนว่าแต่ละกรมฯควรมีการทบทวนอย่างไรบ้าง"

 พาณิชย์จังหวัดกลไกขับเคลื่อน

การทำงานใหม่ของกระทรวงโดยใช้ Mini Moc ในการขับเคลื่อนการทำงานในส่วนภูมิภาคที่ให้พาณิชย์จังหวัดเข้ามาทำงานใกล้ชิดกับประชาชนชนมากขึ้นนั้นถือว่าพาณิชย์จังหวัดจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาคเพราะเป็นผู้ที่รู้จักพื้นที่ได้ดีที่สุดในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง

 สานต่อนโยบาย‘สุวิทย์’

อย่างไรก็ตามในส่วนนโยบายหลักๆ ของกระทรวงจะยังดำเนินการต่อเนื่องจากที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์คนเดิมได้วางไว้ เช่น การสร้างแบรนด์ไทยให้ไปสู่ตลาดโลก ทั้งในระดับของเพื่อนบ้านและในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญ เฉพาะอย่างยิ่งการใช้จุดแข็งของไทยจากมีที่ตั้งอยู่อยู่ในศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในภูมิภาค หรือ Local Economy ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้มแข็งจะเป็นหัวใจของการพัฒนาเอสเอ็มอีในภูมิภาค เพราะการรวมกลุ่มจะทำให้มีความโดดเด่นและสามารถเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือผู้ประกอบการที่มีความเข็มแข็ง เพื่อให้เข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น

 ใช้ประสบการณ์เอกชนช่วย

"สนธิรัตน์" กล่าวอีกว่า มีความถนัดในสายงานอุตสาหกรรมของภาคเอกชนมาก่อน และมีประสบการณ์จากการได้ร่วมงานกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและมีความถนัดเกี่ยวกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ดังนั้นมั่นใจว่าจะสามารถนำมายอดการทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ได้ โดยจะพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับต่างประเทศ ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถาภายในประเทศให้เข้มแข็งและวางรากฐานเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

สำหรับงานเร่งด่วนในปี 2560 กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะผลักดันให้สถานีบริการน้ำมัน รวมไปถึงสถานีบริการก๊าซ LPG และ NGV ทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการสถานีบริการน้ำมันเต็มลิตร จากปัจจุบันเข้าร่วมแล้ว 1,600 แห่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยขณะนี้ผู้ให้บริการ ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบหัวจ่าย และรายงานกลับมายังกรมการค้าภายใน ทุก 1 เดือน รวมทั้งกำชับให้สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ให้สต็อกปริมาณน้ำมันให้มีเพียงพอรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลต่างๆด้วย

ทั้งนี้ประชาชนที่ใช้บริการสถานีน้ำมันต่างๆ ควรสังเกตุสติ๊กเกอร์ของกรมการค้าภายในว่า หัวจ่ายได้รับการตรวจสอบแล้ว ซึ่งตามปกติ จะมีการตรวจสอบซ้ำทุกๆ 2 ปี จึงมั่นใจได้ว่า จะได้ปริมาณเต็มลิตร แต่หากพบสิ่งผิดปกติ ให้ร้องเรียนที่สายด่วน 1569 ได้ทันที

 ชี้ 2 ปีรัฐเดินถูกทาง

"สิ่งที่ภาครัฐฯ ดำเนินการวางรากฐานเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอนาคต(New S-curve) การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน นโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมไปถึงการเร่งผลักดันให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลถือว่าเป็นนโยบายที่เดินมาถูกทางแล้ว เชื่อว่าในอนาคตภาพรวมเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นอย่างยั่งยืน"สนธิรัตน์กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560