ภูมิพลังแผ่นดิน เปลี่ยน ‘ชาวเขา’ เป็น ‘ชาวเรา’

22 พ.ย. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

"... เรื่องที่จะช่วยชาวเขา และโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถที่จะมีความรู้ และพยุงตัวมีความเจริญได้อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าเขาจะเลิกปลูกยาเสพย์ติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับ การปราบปราม การสูบฝิ่น และการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขาเป็นผู้ทำการเพาะปลูก โดยวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราไปสู่หายนะได้โดยที่ถางป่าแล้วปลูก ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่กินดีและความปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง สามารถที่จะอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดิน ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก...."
*พระราชดำรัสตอนหนึ่งในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จบนหลังม้าลัดเลาะไปตามทางแคบๆ ขึ้นไปบนดอยผาหมี จังหวัดเชียงราย รอบข้างแวดล้อมไปด้วยเหล่าข้าราชบริพารและคนท้องถิ่นที่ร่วมนำทางไปในครั้งนั้น ทางเดินที่สูงชันเต็มไปด้วยกรวดหินและหญ้ารกทึบมิอาจขวางกั้นพระราชหฤทัยที่แน่วแน่มั่นคง ลุงมนตรี พฤกษาพันธุ์ทวี หรือ ซาเจ๊ะ หม่อโป๊กู่ ชาวเขาเผ่าอาข่า คนในพื้นที่ดอยผาหมีและยังเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน ชายหนุ่มในภาพผู้มีโอกาสถวายงานพยุงพระกรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บนหลังม้าในครานั้นเนื่องจากมิเพียงชำนาญในพื้นที่แต่ยังเป็นชาวเขาคนเดียวที่พูดภาษาไทยได้ลุงมนตรีกล่าวกับทีมงานสายการบินไทยแอร์เอเชียในวันที่ไปรับชาวเขาเผ่าอาข่าจากยอดดอยสู่ที่ประทับของในยามนี้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “พ่อฟ้าหลวงแขนแข็งแรงมาก แข็งเหมือนไม้เลย แข็งแรงมาก ตอนนั้นลุงตื่นเต้นมาก”

MP29-3211-b จากภาพการเสด็จฯ เยือนดอยผาหมี ในจังหวัดเชียงราย จากการเสด็จฯ เยือนขุนเขาสูงในพื้นที่ภาคเหนือของแผ่นดินไทย จากการทอดพระเนตรเห็นปมปัญหาที่ยังมีทางแก้ สู่การพลิกฟื้นขุนเขาที่เต็มไปด้วยดอกฝิ่น เปลี่ยนพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นสีแดงของดินลูกรังและลมพายุเป็นผืนป่าอันเขียวขจีและอุดมสมบูรณ์สู่ต้นทางก่อกำเนิด โครงการพัฒนาพื้นที่ราบสูงต่างๆ มากมายทั้งดอยตุงในจังหวัดเชียงราย และสถานีเกษตรอันลือเลื่องครองใจนักท่องเที่ยวและชาวไทยทั้งประเทศบนเทือกเขาแดนลาวในจังหวัดเชียงใหม่

ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง อดีตผู้อำนวยการโครงการหลวง ทรงเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง” ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อต้นปี 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถพระที่นั่งไปบ้านแม้วดอยปุย ใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ และได้ทอดพระเนตรต้นท้อ (peach) ที่แม้วเอากิ่งพันธุ์ดีมาต่อกับต้นตอพื้นเมืองตามโครงการแต่ปีก่อน และมีรับสั่งถามเจ้าของว่าปลูกฝิ่นได้เงินเท่าไร และเก็บท้อพื้นเมือง (ลูกเล็ก) ขายได้กี่บาท ก็ทรงทราบว่าฝิ่นกับท้อพื้นเมืองทำเงินให้เกษตรกรเท่าๆ กัน

... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดว่า ถ้าท้อลูกนิดๆ ยังทำเงินให้เกษตรกรได้ดีเท่าฝิ่นแล้ว เราก็ควรจะเปลี่ยนยอดให้ออกลูกมาเป็นท้อใหญ่หวานฉ่ำ สีชมพูเรื่อดังกับแก้มสาวในนิทานจีน เมื่อรายได้จากท้อและผลไม้อื่นสูงกว่าฝิ่นแล้ว ฝิ่นก็จะสาบสูญเองไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องใช้กำลังผลักดันแต่อย่างใด”

งานพลิกฟื้นแผ่นดินก็เริ่มต้นขึ้นจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2 แสนบาท เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 200 ไร่เศษจากเจ้าของเดิม พร้อมมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินงานด้านการพัฒนาพันธุ์ท้อลูกใหญ่และท้อพื้นเมืองในสถานีทดลองดอยปุยเพื่อค้นคว้าหาพันธุ์ท้อที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ รวมทั้งวิจัยและค้นคว้าการพัฒนาไม้เขตเมืองหนาวเพิ่มเติมจากสถานีวิจัยดอยปุย จากพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ได้พระราชทานไว้บนดอยสูงว่า “เมื่อไม่รู้ ก็ต้องวิจัย” จากเงิน 2 แสนบาท ที่ดิน 200 ไร่นี้จึงมีการเรียกขานกันว่า “สวนสองแสน” และนี่คือจุดเริ่มต้นและย่างก้าวที่สำคัญของคำว่า “โครงการหลวง”

โครงการหลวง (Royal project) เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือกำเนิดขึ้นในปี 2512 พระองค์ทรงมอบหมายให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ มีชื่อเรียกในระยะแรกว่า “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวาย สำหรับเป็นงบประมาณดำเนินงานต่างๆ และพระราชทานเป้าหมายสำหรับการดำเนินงานไว้เป็นแก่นหลักทั้งหมด 4 ข้อ คือ 1.ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม 2.ช่วยชาวไทยโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้และต้นน้ำลำธาร 3.กำจัดการปลูกฝิ่น 4.รักษาดิน และใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวน ในส่วนที่ควรเพาะปลูกอย่าสองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน โดยดำเนินการตามคำขวัญสั้นๆ แต่เต็มไปด้วยพลังที่ว่า “เร็วๆ เข้า” “ลดขั้นตอน” และ “ช่วยเขาให้ช่วยตัวเอง”

ข้อมูลที่สืบค้นพบในงานเขียนของคุณขนิษฐา สุวรรณชาติ เรื่องฝ่าลมหนาว ชมพืชพันธ์ต่างปฐพีที่อ่างขาง ในอนุสาร อสท ปีที่ 32 ฉบับที่ 5 ธันวาคม 2534 ระบุไว้ว่า

ในปีเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซื้อ “สวนสองแสน” ให้เป็นสถานีวิจัยการปลูกไม้ดอกไม้ผลเมืองหนาวนั้น วันหนึ่งทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอแดง บ้านห้วยผักไผ่ ตำบลม่อนปิง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทอดพระเนตรเห็นบริเวณอ่างขางซึ่งเป็นหุบเขา มีอากาศหนาวเย็น แต่ชาวไทยภูเขาแถบนั้นตัดไม้ทำลายป่าจนโล่ง ทั้งยังปลูกต้นฝิ่นออกดอกพราวไปทั้งดงดอย ซึ่งสภาพพื้นที่เช่นนี้หากมีการพัฒนาที่ถูกต้องดังสวนสองแสนแล้วจะสามารถปลูกพืชเมืองหนาวได้ดี เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและอากาศเอื้ออำนวย จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อซื้อที่ของชาวบ้านบริเวณเชิงขอบอ่างที่เรียกว่า “บ้านคุ้ม” พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ในราคา 1,500 บาท สำหรับเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาว สถานที่แห่งนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งในครั้งนั้นว่า “สวนพันห้า”

จากที่ดินขนาด 10 ไร่ ที่เรียกว่า “สวนพันห้า” นี้เองที่พัฒนาเป็น “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” ตามชื่อของภูเขาที่ปรากฏลักษณะเป็นหุบเขายาวๆ ล้อมรอบไปด้วยเขาสูง เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาวขนานกับพรมแดนไทยกับเมียนมาร์ ช่วงนี้เป็นหุบเขานี้มีความกว้างของพื้นที่ราบอยู่ไม่เกิน 200 เมตร มีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร กว้างประมาณ 3 กิโลเมตร สูงจากน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร ลักษณะเช่นนี้ชาวบ้านเรียกว่า “อ่างขาง” เดิมเป็นเพียงทุ่งหญ้าคามีการปลูกฝิ่นอยู่ทั่วไป มีอากาศหนาวเย็นยาวนาน มีอุณหภูมิต่ำมากในฤดูหนาวหรือต่ำกว่า 0 องศาจนเกิดน้ำค้างแข็งหรือที่คนพื้นถิ่นเรียกว่าง “แม่คะนิ้ง” ซึ่ง มจ.ภีศเดช เคยทรงเล่าไว้ว่า นักบินเฮลิคอปเตอร์อเมริกนที่ช่วยขนต้นกล้าสนไปให้เมื่อปี 2517 พอเห็นจุดที่เรียกว่าอ่างขางนี้ ก็อุทานออกมาว่า “Shangri – La” หมายถึงเมืองสวรรค์หรืสถานที่สวยลึกลับเลยทีเดียว

คุณจำรัส อินทร หัวหน้าแผนกไม้ดอกไม้ประดับ เจ้าหน้าที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางรุ่นแรกในขณะนั้น ได้กล่าวไว้ว่า บนที่ซึ่งเรียกว่า “ขอบด้ง” นี้ นอนกลางดินกินกลางดอย ยามค่ำคืนนอนนับดาวเป็นเพื่อน คืนเดือนหงายก็มีพระจันทร์เจ้าฉาก แถมเทวดาใจดีเปิดแอร์เย็นเฉียบให้ทั้งคืน

การบุกเบิกของพระราชา สู่ดินแดนดุจสรงสวรรค์ของปวงชนชาวไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559