กลุ่มโรงกลั่นโดดรับอานิสงส์ OPEC+ เลื่อนขยายกำลังผลิต ชู SPRC TOP BCP เด่น

08 ธ.ค. 2567 | 02:57 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2567 | 02:57 น.

โบรกมองบวกการประชุม OPEC+ เลื่อนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปเป็น เม.ย. 68 อีกทั้งในบางประเทศยังตกลงขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจจนถึงปี 69 หนุนหุ้นกลุ่มโรงกลั่นรับปัจจัยบวกจากความกังวล stock loss ที่ลดลง ชู SPRC TOP BCP เด่น

นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรี เปิดเผยว่า ทางฝ่ายมีมุมมองในเชิงบวกต่อผลการประชุม OPEC+ ที่เลื่อนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปเริ่มเป็น เม.ย. 68 (เดิมเริ่ม ม.ค. 68) และยังเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นกับสภาวะ demand รวมถึงลดอัตราการเพิ่มกำลังผลิตเฉลี่ย/เดือน ราว -33% (ทยอยเพิ่มจนครบ 2.46 mbd ภายใน 18 เดือน Vs. เดิม 12 เดือน)

สะท้อนว่า OPEC+ ไม่ได้ต้องการทำสงครามราคาน้ำมัน, ยังมีความร่วมมือกันดีในกลุ่ม และลดความกังวลของตลาดในประเด็นของ oversupply โดยทางฝ่ายมองกลุ่มโรงกลั่นจะได้ปัจจัยบวกจากความกังวล stock loss ที่ลดลง ส่งผลให้ SPRC โดดเด่น

ในด้าน บล.ดาโอ (ประเทศไทย) เปิดมุมมองต่อประเด็นที่ประเทศสมาชิก OPEC+ บางประเทศตกลงขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจจนถึงปี 69 ว่า ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของผู้ผลิตน่ามันรายใหญ่ทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค (OPEC and non-OPEC Ministerial Meeting: ONOMM) ครั้งที่ 38 เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.67

โดยมีข้อตกลงที่จะขยายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจ (voluntary production cuts) ของ 8 ประเทศสมาชิก รวมถึง ซาอุดิอาระเบีย, รัสเซีย, อิรัก, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE), คูเวต, คาซัคสถาน, อัลจีเรียและโอมาน ออกไปจนถึงปี 69 โดยแบ่งออกเป็น
 

  1. voluntary production cuts จำนวน 1.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน (mbd) ซึ่งประกาศมาตั้งแต่ เม.ย.66 จะมีผลจนถึง ธ.ค. 69
  2. voluntary production cuts จำนวน 2.2 mbd ซึ่งประกาศในเดือน พ.ย.66 จะขยายเวลาจนถึงเดือน มี.ค.68 ก่อนที่จะทยอยปรับลดขนาดรายเดือนจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.69 เพื่อสนับสนุนความมีเสถียรภาพของตลาด โดยการปรับเพิ่มรายเดือนสามารถที่จะหยุดหรือกลับรายการได้ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด ทั้งนี้ การประชุม ONOMM ครั้งที่ 39 จะจัดขึ้นในวันที่ 28 พ.ค.68

กลุ่มโรงกลั่นรับอานิสงส์

ดังนั้น ฝ่ายวิจัยจึงมีมุมมองเป็นกลางต่อแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ โดยมองว่าการขยายเวลาการทยอยถอน voluntary production cuts ออกไปจะทำให้ผลกระทบจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นต่อตลาดน้ำมันโลกจำกัดมากขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตลาดน้ำมันโลกยังมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะอุปทานล้นตลาด (oversupply) ในปี 68 จากภาพรวมอุปสงค์การใช้น้ำมันที่ฟื้นตัวช้ากว่าอุปทานใหม่ที่เข้ามา โดยเฉพาะจากกลุ่ม non-OPEC+

และฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลงจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ในปี 68 โดยปัจจุบันสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยของฝ่ายวิจัยอยู่ที่ 80.0 ดอลลาร์/บาร์เรล ในปี 67 และ 73.0 ดอลลาร์/บาร์เรล ในปี 68 ทั้งนี้ เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะซื้อขายในกรอบ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล ถึง 75 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปี 67 นี้ ฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักการลงทุนเท่ากับตลาด สำหรับกลุ่มพลังงาน และชอบหุ้นโรงกลั่นที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน ของผลประกอบการในไตรมาส 4/67 โดยชอบหุ้น SPRC แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมายที่ 8.50 บาท, TOP แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมายที่ 55.00 บาท และ BCP แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมายที่ 40.00 บาท

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าผลประกอบการของกลุ่มโรงกลั่นน่าจะผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้วในไตรมาส 3/67 และจะกลับมารายงานกำไรสุทธิได้ในไตรมาส 4/67 หนุนโดย

  1. การฟื้นตัวของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและราคาน้ำมันดิบ (crack spread)
  2. ผลขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (stock loss) ที่เป็นไปได้ที่ลดลงตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่มีความผันผวนน้อยลงจากไตรมาสก่อน ในไตรมาส 4/67