หุ้นไทย ร่วงลงแรงนับตั้งแต่วันทำการแรกของสัปดาห์หลังวันหยุดสงกรานต์ หลังเผชิญแรงขายหลักๆ จากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางปัจจัยกดดัน ประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่บานปลายหลังจากอิสราเอลโต้ตอบอิหร่าน กดดันให้ดัชนี ( SET Index ) ในช่วง 3 วัน ( 17-19 เม.ย.67 ) ร่วงแรงรวม 64.30 จุด หรือปรับลดลง 4.60% แตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี 5 เดือน ที่ 1,330.24 จุด
ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ( รวม SET+ mai ) หรือมาร์เก็ตแคปในช่วง 3 วัน สูญหายกว่า 812,697 ล้านบาท มาอยู่ระดับ 16,853,490 ล้านบาท จากมูลค่า 17,666,187 ล้านบาท ( ณ 11 เม.ย.67 ) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยถึง 10,504 ล้านบาท และหากนับตั้งแต่ต้นปี 67 มา ( YTD ) ต่างชาติขายหุ้นไทยแล้วกว่า 70,066 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย YTD ปรับตัวมาแล้ว 5.92% จากสิ้นปี 66 ที่ปิดระดับ 1,415.85 จุด
อย่างไรก็ดี วานนี้ ( 19 เม.ย.67 ) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออก Statement ชี้แจงว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ปรับตัวตามทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก โดยปิดตลาด (19 เม.ย.67 ) ดัชนี SET ปรับลง 28.94 จุด หรือลดลง 2.13% จากวันที่ 18 เม.ย.67 มาอยู่ที่ระดับ 1,332.08 จุด ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียและตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางจะบานปลาย หลังจากอิสราเอลได้โต้ตอบอิหร่าน ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ราคาทองคำและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น
ซึ่งหากพิจารณาตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2567 ถึงสิ้นวันนี้ ณ 17.00 GMT+7 พบว่า
ตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลงตามตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เนื่องจากความขัดแย้งรอบนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยปิดทำการ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาครับทราบข่าวไปแล้ว ดังนั้น เมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดซื้อขายหลังวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ จึงรับรู้ข่าวและปรับลดลงในทิศทางเดียวกันกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ประกอบกับยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวลดลง อาทิ การกำหนดวันจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ เป็นต้น
ผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อ บจ.
ผลกระทบทางตรงต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีไม่มาก โดยจากฐานข้อมูลการลงทุนและรายได้จากต่างประเทศ ของฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่รวบรวมจากแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีและรายงานประจำปี (56-1 One Report) และจากหมายเหตุประกอบงบการเงิน ประจำปี 2565 พบว่า มีเพียงบริษัทเดียวที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่ามีบริษัทย่อยในอิสราเอลและบริษัทย่อยแห่งนี้มีรายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือ ประมาณ 0.26% ของรายได้จากต่างประเทศรวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่การเปิดเผยข้อมูลในปี 2565
และจากฐานข้อมูลการถือครองหุ้นรายสัญชาติชุดล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า นักลงทุนอิสราเอลและนักลงทุนอิหร่านมีมูลค่าการถือครองหุ้นรวมกันในตลาดหุ้นไทยเพียง 141 ล้านบาท (อิสราเอล 117 ล้านบาท และอิหร่าน 24 ล้านบาท) ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง (Exposure) กับทั้ง 2 ประเทศนี้ค่อนข้างต่ำ สอดคล้องกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่คาดว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนักหากไม่ขยายวงกว้าง
ส่วนผลกระทบทางอ้อมต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยอาจเกิดขึ้นจากความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่ส่งผ่านห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) อาทิ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงราคาวัตถุดิบ ต้นทุนการขนส่ง เป็นต้น และความผันผวนในตลาดหุ้นไทยจากความกังวลของนักลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ลงทุนติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ วิเคราะห์รอบด้าน และใช้วิจารณญาณในการพิจารณาซื้อขายให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ดัชนี SET สัปดาห์หน้า แกว่งกรอบ 1,300-1,350 จุด
ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า (22-26 เม.ย.) คาดดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,315 และ 1,300 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,340 และ 1,350 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค.ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนมี.ค. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนเม.ย. ของจีน