มูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยปี 66 วูบ 28.3% ฉุดผลงานโบรกเกอร์ติดหล่ม

09 เม.ย. 2567 | 11:39 น.

มูลค่าการซื้อขายตลาดหุ้นไทยปี 66 หดตัวเหลือ 12.41 ล้านล้านบาท ลดลง 27.68% จากปีก่อน ฉุดผลการดำเนินงานธุรกิจโบรกเกอร์ติดหล่ม ลุ้นภาครัฐส่งยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น จูงใจต่างชาติกลับเข้าลงทุนไทย

สถิติตลาดหุ้นไทยปี 2566 พบว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1415.85 จุด ลดลง 15.15% จากปี 2565 โดยมีมูลค่าซื้อขายหมุนเวียนอยู่ที่ระดับ 12.41 ล้านล้านบาท หรือมีมูลค่าซื้อขายหมุนเวียนเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ระดับ 5.10 หมื่นล้านบาท ตัวลดลงถึง 27.68% และ 28.28% ตามลำดับ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่มีมูลค่าซื้อขายหมุนเวียนอยู่ที่ 17.16 ล้านล้านบาท หรือมีมูลค่าซื้อขายหมุนเวียนเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ระดับ 7.12 หมื่นล้านบาท

ตัวเลขมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลง สะท้อนสภาพคล่องและปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และแน่นอนว่า กลุ่มที่ได้รับกระทบหนักที่สุดคงหนีไม่พ้น ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ โบรกเกอร์ ที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียม และบริการ

"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบข้อมูลงบการเงินปี 2566 เทียบกับปี 2565 ของบริษัทหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)  5 แห่ง จากทั้งหมด 9 แห่ง พบว่า ผลการดำเนินงานโดยเฉพาะรายได้ค่านายหน้า (โบรกเกอร์) ทั้งหมดปรับตัวลดลงกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันลดลง และปริมาณการซื้อขายของลูกค้าที่เป็นนักลงทุนรายย่อยที่ลดลงกันถ้วนหน้า

บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 407.94 ล้านบาท ลดลง 15% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 479.27 ล้านบาท และมีรายได้รวม 2,345.58 ล้านบาท ลดลง 7.17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2,526.81 ล้านบาท จากการปรับตัวลดลงของรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์มาอยู่ที่ 538.43 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 837.65 ล้านบาทและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการลดลงจาก 1,217.55 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,158.20 ล้านบาท

บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GBX ผลการดำเนินงานปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 64.80 ล้านบาท ลดลง 21.22% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 82.25 ล้านบาท และมีรายได้รวม 505.14 ล้านบาท ลดลง 21.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 646.92 ล้านบาท

โดยรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ที่ 171.36 ล้านบาท ลดลง 41.45% หรือ 121.33 ล้านบาทจากปีก่อน เนื่องจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันลดลง จาก 1,849.43 ล้านบาท ในปี 2565 เป็น 1,202.08 ล้านบาท ในปี 2566 และส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 1.31% ในปี 2565 เป็น 1.22% ในปี 2566

 

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI ผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ  868 ล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1,004 ล้านบาท และมีรายได้รวม 3,797 ล้านบาท ลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4,146 ล้านบาท หลักๆ เป็นผลมาจากรายได้ค่านายหน้า ที่คิดเป็นสัดส่วน 23% ของรายได้รวม ลดลง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนจาก 1,115 ล้านบาท ลงมาอยู่ที่ 884 ล้านบาท 

บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH ผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 90.86 ล้านบาท ลดลง 58.16% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 217.21 ล้านบาท สาเหตุหลักจากบริษัทมีรายได้รวมลดลง 17.54% จาก 1,386.70 ล้านบาท เป็น 1,143.52 ล้านบาท รายได้ค่านายหน้าลดลง 34.22% จาก 995.61 ล้านบาท เป็น 654.87 ล้านบาท ตามปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงจากปีก่อน

บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จํากัด (มหาชน) หรือ TNITY ผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนก่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 443.16 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ที่มีกำไรก่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 218.13 ล้านบาท จากรายได้ที่ลดลงมากกว่าค่าใช้จ่ายที่ลดลง และจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

ทำให้ผลขาดทุนสุทธิมีจำนวน 353.40 ล้านบาทในปี 2566 ลดลงเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิในปี 2565 ที่ 178.40 ล้านบาท โดยรายได้รวมของบริษัทและบริษัทย่อยในปี 2566อยู่ที่ 304.05 ล้านบาท ลดลง 63.42% จากปี 2565 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 831.28 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทคิดเป็น 122.59% ของรายได้รวม มีรายได้ลดลงมาอยู่ที่ 372.74 ล้านบาท หดตัว 32.74% จากปีก่อนที่ 554.21 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงเป็น 127.05 ล้านบาท หดตัว 51.15% จากปีก่อนที่ 260.06 ล้านบาท เป็นไปตามปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์รวมต่อวันของตลาดหลักทรัพย์ลดลง 30.53% จาก 76,773 ล้านบาท เป็น 53,331 ล้านบาท และปริมาณการซื้อขายของลูกค้าที่เป็นนักลงทุนรายย่อยลดลง

รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการลดลงจาก 100.08 ล้านบาท เป็น 55.70 ล้านบาท หรือลดลง 44.34% เป็นการลดลงของค่าธรรมเนียมจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนส่วนบุคคล และรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ลดลงจาก 179.30 ล้านบาท เป็น 174.53 ล้านบาท หรือลดลง 2.66% เผ็นผลจากการลดลงของเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ระหว่างปี เป็นต้น

Q1/67 มูลค่าซื้อขายหล่น 30.7%

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค.67) อยู่ที่ระดับ 2.76 ล้านล้านบาท ลดลง 1.22 ล้านล้านบาทหรือลดลง 30.70% จากไตรมาส 1/2566 ที่มีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 3.98 ล้านล้านบาท โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 1/2567 ปิดที่ระดับ 1377.94 จุด จากดัชนีวันก่อนหน้าที่ 1415.85 จุด ซึ่งในช่วงระหว่างนั้น ดัชนีได้ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1434.59 จุด และย่อตัวลงมาทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1356.54 จุด

ขณะที่ไตรมาส 1/2566 ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 1609.17 จุด จากดัชนีวันก่อนหน้าที่ 1668.66 จุด ในระกว่างช่วงเวลานั้น ดัชนีเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1691.41 จุด และย่อตัวลงทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1523.889 จุด

หวังภาครัฐฯ อัดยาแรง

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จํากัด (มหาชน)หรือ TNITY เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าจากมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้น ทำให้รายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ ปรับตัวลดลง และอันที่จริงแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ธุรกิจโบรกเกอร์ก็ยังได้รับแรงกดดันจากภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

มูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยปี 66 วูบ 28.3% ฉุดผลงานโบรกเกอร์ติดหล่ม

ทำให้บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งจำเป็นมีการปรับตัวและปรับโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ หาทางหนีทีไล่เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มสัดส่วนรายได้จากช่องทางอื่นให้มากขึ้น และมองหาธุรกิจที่จะมาเป็น New S-curve สร้างรายได้ใหม่ทดแทน รวมถึงมีการลงทุนเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริมบริการ พัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการให้กับลูกค้าได้มากขึ้น

ทั้งนี้ หากภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีการหมุนเวียนที่ดีขึ้น มีสภาพคล่องมากขึ้น (M2) นโยบายทั้งการคลังและการเงินมีความชัดเจน ก็เชื่อว่าช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับทั้งนักลงทุนไทยและยังดึงดูดความสนใจกระแสเงินทุนจากต่างชาติได้ ทำให้มีสภาพคล่องมากขึ้น และแน่นอนว่ามูลค่าการซื้อขายและปริมาณการซื้อขายก็จากฟื้นตัวที่ดีขึ้น ซึ่งก็คงต้องไปตั้งความหวังรอในช่วงครึ่งปีหลังนี้ว่าภาครัฐจะสามาารถหาบทสรุปให้กับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน