"ชลัช ชินธรรมมิตร์" ชี้อ้อยเข้าหีบปี 67 หด ทุ่ม 3.5 พันล้าน อัพแกร่ง KSL

06 มี.ค. 2567 | 00:30 น.

KSL คาดปริมาณหีบอ้อยปี 67 ที่ 81 ล้านตัน หลังภาวะแห้งแล้งกระทบการเพาะปลูกอ้อยทั้งในไทย บลาซิล และอินเดีย หนุนราคาส่งออกน้ำตาลปีนี้ยืนเหนือ 600 เหรียญ/ตัน ขณะที่ราคาน้ำตาลไทยคาดเฉลี่ยที่ 21-22 บาท อัดงบ 3.5 พันล้าน อัพแกร่งโรงงานผลิตใหม่ เฟสแรก 2 หมื่นตัน

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า คาดการณ์อ้อยเข้าหีบในปี 2567 ที่กำลังจะใกล้ปิดลงในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่จะถึงนี้ของทั้งประเทศไทย โดยรวมจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 81 ล้านตันอ้อย ปรับตัวลดลงกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนที่ทำได้ระดับ 93.78 ล้านตันอ้อย ในขณะที่ปี 2567 บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมทั้งสิ้นราว 5.43 ล้านตันอ้อย ลดลงกว่า 20% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนที่ทำได้ 6.60 ล้านตัน

ปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ลดลงหลักๆ เป็นผลมาจากสภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างแล้งทำให้ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก ผลผลิตอ้อยจึงมีปริมาณลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งไม่เพียงประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบ แต่ผู้ส่งออกน้ำตาลหลักของโลกอย่างประเทศบราซิล และอินเดีย ก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ส่งผลกระทบให้คาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำตาลในปี 2567 จะปรับตัวลดลง ตามปริมาณอ้อยที่ลดลง แต่ข้อดีคือ ด้วยดีมานด์ใช้น้ำตาลมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ราคาน้ำตาลทราบดิบทรงตัวในระดับสูงได้ต่อไป

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปลายปี 2566 เป็นต้นมา ราคาน้ำตาลทรายดิบทรงตัวอยู่ในระดับเฉลี่ยที่สูงราว 600 เหรียญ/ตันได้ และคาดว่าจะทรงตัวเหนือระดับเช่นนี้ไปตลอดทั้งปี 2567 ขณะที่ราคาขายน้ำตาลทรายในประเทศนับตั้งแต่ปลายปีก่อนมาจนถึงปัจจุบัน มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10% อยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 21-22 บาท/กก. ซึ่งคาดว่าทั้งนี้จะทรงตัวในระดับเช่นนี้ได้ต่อไปเช่นเดียวกัน สะท้อนต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของบริษัท แม้ว่าปริมาณอ้อยและปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายจะลดลง

ยอดขายในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมกราคม 2567 (ไตรมาส 1/2567/68) ในแง่ของปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลอาจปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ในแง่ของรายได้จากการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นดีกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน สำหรับการส่งออกในงวดไตรมาส 1/2567/68 มีแนวโน้มทรงตัว แต่ด้วยราคาขายที่เพิ่มขึ้นช่วยหนุนให้ผลการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทแกว่งที่ระดับ 35-36 บาท ช่วยหนุนบริษัทได้อีกแรง

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เดินหน้าผลักดันยอดขายของผลิตภัณฑ์ Kane’s (เคนส์) ที่เป็นน้ำตาลทรายจากอ้อยธรรมชาติที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ หรือ Low GI เน้นจับกลุ่มผู้บริโภครักสุขภาพ และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวนั้น มีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ที่ผ่านมากระแสตอบรับค่อนข้างดี

แผนการลงทุนในปี 2567 บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนต่อเนื่องในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ อำเภอวัฒนานคร ที่จังหวัดสระแก้ว ขนาด 1,200 ไร่ เฟสที่ 1 เพื่อเพิ่มกำลังผลิตให้เป็น 20,000 ตัน/วัน จากโรงงานเดิม ที่อำเภออรัญประเทศ (ที่ได้ยุติในปีก่อน) ที่มีกำลังการผลิตที่ราว 3,000 ตัน/วัน ซึ่งมีมูลค่าลงทุนรวมกส่า 5,000 ล้านบาท โดยในปี 2566 ได้มีการใส่เงินลงทุนในรอบแรกไปแล้ว 1,500 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องจักรทดสอบการผลิตในเดือนธันวาคม 2567 นี้

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมีความสนใจและเปิดโอกาสกว้างในการศึกษาการลงทุนใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจหลัก และเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจหลักได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า เพราะปัจจุบันความสามารถในการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างสูง ทำให้มีปริมาณไฟฟ้าคงเหลืออยู่มาก หากมีพาร์ทเนอร์ที่สนใจรับซื้อไฟฟ้าหรือต่อยอดไปในแนวทางอื่นๆ ได้ บริษัทก็พร้อมที่จะเข้าไปทำการศึกษา