ก.ล.ต.วางกรอบหุ้นกู้เข้มข้น ชู Investment grade ยังไปได้

12 ม.ค. 2567 | 05:13 น.

ก.ล.ต. ตามติดหุ้นกู้เอกชนอาจเบี้ยวหนี้ใกล้ชิด หลัง ITD ขอเรื่องชำระ ตามติด JKN ที่สร้างแรงวิตกมาตั้งแต่ปีก่อน เดินหน้าเจรจาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ไขปัญหา พร้อมกั้นคอกป้องกันการเหตุเกิดซ้ำในอนาคต

ประเด็นร้อนในตลาดที่เกิดขึ้นล่าสุด เกี่ยวกับการเลื่อนชําระหนี้ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ขอเลื่อนจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ทุกรุ่นออกไปอีก 2 ปี กับเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้

แต่ระหว่างทางจะยังจ่ายดอกเบี้ยให้ตามปกติ ส่งผลให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ ITD จำนวน 5 รุ่น มูลค่ารวม 14,455 ล้านบาท ได้รับการชำระล่าช้าออกไปอีก 2 ปี โดยมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 3 รุ่น มูลค่า 5,670 ล้านบาท, ปี 2568 และปี 2569 อีกปีละ 1 รุ่น มูลค่า 6,000 ล้านบาท และ 2,785 ล้านบาท

ส่งผลให้เกิดความหวั่นวิตกให้กับนักลงทุนว่าหาก ITD เบี้ยวจ่ายหนี้จะกระทบต่อกลุ่มสถาบันการเงินที่มีการปล่อยเงินกู้ให้กับ ITD ด้วยหรือไม่ สร้างความกังวลใจให้นักลงทุนและทางการต่อเนื่องจากปีก่อน หลังจากปีที่ผ่านมา มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประสบปัญหาสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ตามระยะเวลา

อย่างบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN อย่างไรก็ดี ทาง ITD จะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 12567 (ซึ่งเป็นการประชุมหุ้นกู้ของบริษัททุกชุดร่วมกัน แต่แยกการนับองค์ประชุมและการลงมติ) ในวันพุธที่ 17 มกราคม 2567

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ประเด็นสถานการณ์หุ้นกู้เอกชนที่จะครบกำหนดและอาจมีปัญหาในเรื่องการผิดนัดชำระในช่วงนี้ที่มีผลทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลใจ ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหุ้นกู้ภาคเอกชน ทางก.ล.ต. ยังไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

โดยในช่วงที่ผ่านมาทางก.ล.ต. ได้หารือถึงความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกด้าน เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนาและยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน

รวมไปถึงการป้องกันและป้องปรามพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับผู้ลงทุนได้มากยิ่งขึ้น

เบื้องต้นทาง ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการวางมาตรการต่างๆ ทั้งในเชิงของการป้องกัน และดูละกำกับดูแลที่รัดกุมมากขึ้น ซึ่งขั้นตอนต่างๆ อยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินการ อาทิ กลุ่ม High Yield Bond จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น และจะต้องพิจารณาในส่วนของหลักประกันประกอบด้วย

อีกทั้งยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการออกข้อกำหนดเพื่อสร้างให้เป็นมาตรฐาน และเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ในส่วนหุ้นกู้ที่มีปัญหา เบื้องต้นก็จะมี Class Action มารองรับในการดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งจะผ่านตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทั้งธุรกิจที่ออกหุ้นกู้ และผู้ลงทุนหุ้นกู้

"จากกระแสข่าวในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีผลต่อความเชื่อมั่น ทำให้ผู้ลงทุนมีความกังวลใจและเกิด List off ซ้ำเติมตลาดฯ จนกระทั่งไม่มีดีมานด์เข้ามาในตลาด ทำให้การออกตราสารหนี้ใหม่อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่มองว่าในส่วนที่อยู่ในระดับ Investment grade ยังไปได้อยู่ ขณะที่กลุ่ม High Yield อาจขายได้ยากหน่อย ดังนั้น จึงต้องมีการเอาเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน"นางพรอนงค์ กล่าว