เปิดไส้ใน "เฮียฮ้อ-ZIGA" เกมสมประโยชน์ "เงินกู้ 104 ล้าน"

09 ก.ย. 2566 | 09:15 น.

ไขปมคาใจ "เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ "ทำไมต้องกู้เงิน ZIGA ดอกเบี้ยแพง 15% ต่อปี - ไส้ในงบการเงิน ZIGA สภาพคล่องส่วนเกิน เกิดจากสาเหตุ ใครกันแน่ได้ประโยชน์

ข่าวบริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA ปล่อยเงินกู้ให้ "เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์" วงเงิน104 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 15% ระยะเวลา 10 เดือน  สร้างความฉงนกับแวดวงตลาดทุน เพราะคนอย่างระดับ "เฮียฮ้อ" การจะกู้เงินจากแบงก์แค่วงเงิน 104 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องใหญ่  แถมแบงก์คิดดอกเบี้ยอาจจะไม่ถึง 6 -7% แต่ทำไมต้องกู้ ZIGA

ZIGA  โชว์งบ 6 เดือนแรกปี66  มีกระแสเงินสด 271.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 154.61% จาก ณ สิ้นปี 2566 ที่มี 106.66 ล้านบาท และมีอัตราสภาพคล่อง ( สินทรัพย์สภาพคล่อง : หนี้สินระยะสั้น ) ถึง 1.13 เท่า ( มากกว่า 1 สะท้อนสภาพคล่องยิ่งมาก)  โดยมีสินทรัพย์รวม 1,526.02 ล้านบาท จำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน 756.18 ล้านบาท นั่นหมายถึงมีสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วเกือบครึ่ง  และมีหนี้สินรวม  763.40 ล้านบาท แยกเป็นหนี้สินที่มีกำหนดชำระเกิน 1 ปี วงเงิน 93.05  ล้านบาท ที่เหลือ 670.36  ล้านบาท เป็นหนี้ระยะสั้น ประกอบด้วย หนี้สถาบันการเงิน และหนี้หุ้นกู้ โดยมีหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม( D/E ) ที่ 1.00 เท่า 

 

เปิดไส้ใน \"เฮียฮ้อ-ZIGA\" เกมสมประโยชน์ \"เงินกู้ 104 ล้าน\"

 

ZIGA บริหารสภาพคล่องปล่อยกู้ "เฮียฮ้อ"  

หากยังจำกัน ในเดือน เม.ย.65  ZIGA  ระดมทุนโดยออกหุ้นกู้ ( ครั้งที่ 1/2565 ) รุ่น" ZIGA244A " มูลค่า 194.90 ล้านบาท อายุ 2 ปี ( ครบไถ่ถอน 26 เม.ย. 2567 ) ดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี ระบุวัตถุประสงค์ เพื่อนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นไปลงทุนในโครงการสินทรัพย์ดิจิทัล (บิตคอยน์) ตามมติบอร์ดบริษัทฯที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ (เมื่อ 31 ม.ค.65) อนุมัติลงทุนในธุรกิจขุดเหมืองบิตคอยน์ ผ่านบริษัทย่อย " บจก. ซิก้า เอฟซี หรือ Ziga FC " มูลค่าลงทุน 103.10 ล้านบาท  แต่จากสถานการณ์ราคาบิตคอยน์ดิ่งลง ต้นทุนค่าไฟฟ้าในประเทศปรับตัวสูง  ในกลางปีนั้นเองบริษัทฯ จึงได้ตัดสินใจชะลอแผนขุดบิตคอยน์  ก่อนที่เวลาต่อมาปลาย เดือนเม.ย.ปี 66 บริษัทฯ แจ้งต่อตลท. หยุดธุรกิจขุดบิตคอยน์ พร้อมปิดการขุดเหมือง

แหล่งข่าว กล่าวกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า สภาพคล่องจากที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนในธุรกิจบิตคอยน์  ทำให้ ZIGA  ต้องหาทางบริหารเงินก้อนนี้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า เพราะมีต้นทุนสูงถึง 6.25% ต่อปี ดังนั้นหลังขายหุ้นกู้ได้  194.90 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ต่อมาเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2566 บอร์ด ZIGA จึงได้อนุม้ติวงเงินกู้ให้ "เฮียฮ้อ" จำนวน 104 ล้านบาท ในอัตราอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี  กำหนดรับชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ในวันที่ 2 มี.ค. 2567 (ระยะเวลา 10 เดือน)  โดยผู้กู้ได้ใช้หุ้น GIFT : บมจ.แกรททิทูด อินฟินิท ( ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น : บมจ.กิฟท์ อินฟินิท ) จำนวน 32,000,000 หุ้น  ( มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท จากเดิม 1.00 บาท )   คิดเป็นสัดส่วน 2.42% ของหุ้นทั้งหมดของ GIFT ค้ำประกัน 


 

 

 

จากรูปการณ์ เชื่อว่าจะเป็นการเสนอให้ "เฮียฮ้อ" มากู้ โดยผลประโยชน์ที่ ZICA ได้รับเมื่อครบกำหนดระยะเวลาสัญญา ( 10 มี.ค. 67 ) จะได้รับชำระเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยรวม 117 ล้านบาท  ( เป็นดอกเบี้ยรับ 13 ล้านบาท ) ซึ่งบริษัทมีแผนจะนำไปชำระหุ้นกู้ "ZIGA244A" ที่จะครบดีลในเดือนถัดไปคือ วันที่ 26 เม.ย.67 

รายชื่อ 10 อันดับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บมจ.กิฟท์ อินฟินิท ( GIFT)

  • บริษัท เชษฐโชติ โฮลดิ้งส์ จำกัด 390,000,000 หุ้น สัดส่วน 29.51%
  • นาย สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ 257,431,932หุ้น สัดส่วน 19.48%
  • พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง 60,800,000 หุ้น สัดส่วน 4.60%
  • น.ส. กนกพร เรมกานนท์ โดย บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)    54,761,000 หุ้น สัดส่วน 4.14%
  • นาย โชติ เชษฐโชติศักดิ์ 44,000,000 หุ้น สัดส่วน 3.33%
  • นาย วีรพัฒน์ พูนศักดิ์อุดมสิน 40,229,000 หุ้น สัดส่วน  3.04%
  • นาย เชษฐ เชษฐโชติศักดิ์ 40,000,000หุ้น สัดส่วน 3.03%
  • บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน)    32,000,000 หุ้น สัดส่วน 2.42%
  • น.ส. กานดา สธนกุลพานิช 31,600,000 หุ้น สัดส่วน 2.39%
  • นาย สุขสันต์ ยศะสินธุ์    30,054,300    หุ้น สัดส่วน 2.27%

"เฮียฮ้อ" เล็งประโยชน์อะไรจากเงินกู้ GIFT 104 ล้าน

ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (PPS)  และเป็นเจ้าของ Tiktok ช่อง “ปป รวยกว่าย่อมดีกว่า” ตั้งข้อสังเกตุโดยลำดับเหตุการณ์อย่างน่าสนใจ ว่า

  • ปลายปี 2565 เฮียฮ้อ เริ่มซื้อ"หุ้น GIFT"จาก บมจ.ยูเนี่ยน ปิโตรเคมีคอล (UKEM) ในราคาต้นทุนหุ้นละ 1.65 บาท จำนวน 206 ล้านหุ้น คิดเป็น 62.56%  ใช้เงิน  340 ล้านบาท 
  • วันที่ 28 เม.ย.2566 "เฮียฮ้อ"ไปกู้เงินจาก ZICA จำนวน 104 ล้านบาท ใช้หุ้น GIFT เป็นหลักประกัน 16 ล้านหุ้น (ปัจจุบันคือ 32 ล้านหุ้น หลังแตกพาร์จากหุ้นละ 1.00 บาท เป็น 0.50 บาท ) ซึ่งวันที่กู้ ราคาหุ้น GIFT อยู่ที่ 7.00 บาท ( ราคาปิดซื้อขาย ณ วันที่ 28 เม.ย.66 อยู่ที่ 6.45 บาท ) ดังนั้นแม้ "เฮียฮ้อ" จะเกิดผิดนัดชำระหนี้  ZICA และ ZICA ต้องยึดหุ้นไป เฮียฮ้อ ก็ยังได้กำไรเพราะมีต้นทุนเพียง 1.65 บาท แต่ได้เงินทุน 104 ล้านบาทมาหมุนเวียน 
  • วันที่ 1 มิ.ย. 66, วันที่ 13 มิ.ย. 66 , วันที่ 11 ก.ค.66 , วันที่ 17 ก.ค. 66  และวันที่ 21 ก.ค.66 เฮียฮ้อ ทำการขายหุ้น GIFT 5 ครั้ง รวมกันได้เงินสดทั้งสิ้น 492.05 ล้านบาท  ( เฉลี่ยขายหุ้นละ 4.61 บาท)  แต่เฮียฮ้อใช้เงินซื้อ 340 ล้านบาท ก็ยังเหลือเงินสด 256 ล้านบาท (บวกเงินกู้ที่ได้รับจาก ZICA แล้ว 104 ล้านบาท ) และยังมีกำไรทั้งสิ้น 372.34 ล้านบาท 
  • ข้อมูล "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมจากรายงานตลาดหลักทรัพย์ ฯ  ปัจจุบัน เฮียฮ้อ และบุตร 2 คน (เชษฐ และ โชต์ เชษฐโชติศักดิ์ ) " ถือหุ้น GIFT รวมกัน ประมาณ 781,192,932 หุ้น  สัดส่วน 59.1085%  
  •  ปี 65 GIFT มีรายได้รวมที่ 118.95  ล้านบาท ขาดทุน 11.29 ล้านบาท  แต่-งวด 6 เดือนแรกปี 66  GIFT มีรายได้เพียง 13.53 ล้านบาท ขาดทุน 6.11ล้านบาท
  • จะเห็นว่า บริษัท GIFT แม้จะขาดทุน แต่คนซื้อหุ้นคือเฮียฮ้อ ได้ทั้งเงินสดและกำไร

 

เปิดไส้ใน \"เฮียฮ้อ-ZIGA\" เกมสมประโยชน์ \"เงินกู้ 104 ล้าน\"